สิงคโปร์ทำยังไง ให้คนเข้าห้องสมุดปีละ 10 ล้านคน

สิงคโปร์ทำยังไง ให้คนเข้าห้องสมุดปีละ 10 ล้านคน

อีกหนึ่งแผนระดับชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ที่อยากให้ประชาชนมีความรู้ แล้วก็สนุกและบันเทิงได้ด้วย

ห้องสมุดเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญที่คนสิงคโปร์เข้าไปอ่านหนังสือ ฟังเพลง ชมวิว ไปจนถึงถ่ายรูปเช็คอินลง instagram กันเต็มไปหมด ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแผนระดับชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ที่อยากให้ประชาชนมีความรู้ด้วย แล้วก็สนุกและบันเทิงได้ด้วย

คนไม่เข้าห้องสมุด ห้องสมุดไปหาคนเอง

ในยุคที่เทคโนโลยีในการหาความรู้ก้าวไกลมากขึ้นทุกวัน หลายคนอาจจะคิดว่าคนน่าจะอ่านหนังสือน้อยลงแล้ว แต่รัฐบาลสิงคโปร์กลับสามารถทำให้คนสิงคโปร์หันมายืมหนังสือได้มากขึ้น โดยมีห้องสมุดแห่งหนึ่งที่มีคนมาใช้บริการเพิ่ม 200% และมีคนยืมหนังสือเพิ่ม 100% แถมยังมีคนมาปรบมือรอห้องสมุดเปิดให้บริการอีก

หากย้อนดูสถิติในหลายประเทศจะพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการห้องสมุดลดลงอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจลุกขึ้นมาปฏิวัติห้องสมุดให้น่าสนใจมากขึ้น ถึงแม้ว่าห้องสมุดหลาย ๆ แห่งจะเพิ่งปิดปรับปรุง แต่แผนนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ และมีเพียงทรัพยากรเดียวคือ ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรเดียวที่ทำให้สิงคโปร์มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลกได้
ในปี 1992 คณะกรรมการทบทวนห้องสมุด ‘The Library 2000 Review Committee’ ของกระทรวงสารสนเทศและศิลปะแห่งสิงคโปร์ได้กำหนดวิสัยทัศน์ต่อห้องสมุดว่า “สิงคโปร์จะขยายขีดความสามารถในการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายห้องสมุดระดับชาติและศูนย์ข้อมูลที่ให้โอกาสในการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของสิงคโปร์” ห้องสมุดกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชาติ และเป็นแหล่งรักษาศิลปะอันดีงามของประเทศเอาไว้ด้วย

คณะกรรมการมองการณ์ไกลไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไป อาจจะทำให้ห้องสมุดที่มีอยู่เดิมไม่ตอบโจทย์การใช้งานของประชาชน รัฐบาลจึงมีการปรับปรุงห้องสมุดอยู่หลายครั้ง

หนึ่งในห้องสมุดที่ได้รับเสียงตอบรับดีมากที่สุดคือ library@habourfront ห้องสมุดขนาด 3,000 ตารางเมตรบนห้างสรรพสินค้า VivoCity หนึ่งในห้างที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ที่นี่มีที่นั่งราว 460 ที่ มีหนังสือ 200,000 เล่ม และที่สำคัญคือ มีวิวเกาะเซ็นโตซาสวยที่สวยมาก จนนักอ่านทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างชาติแย่งกันนั่งราวกับเก้าอี้ดนตรี และถ่ายรีวิวจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

ห้องสมุดไม่ใช่แค่คลังกระดาษ แต่เป็นพื้นที่ของทุกคน

อย่างที่ก่อนหน้านี้ว่าสิงคโปร์รู้มาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วว่าคนจะเข้าห้องสมุดลดลง ในปี 2012 จำนวนผู้ใช้บริการและอัตราการยืมหนังสือของสิงคโปร์ก็ลดลงไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้จริง ทางคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติจึงออกแผนแม่บทห้องสมุดแห่งอนาคต (the Library of the Future’ LoTF) ตั้งแต่ปี 2015-2030 ให้มีการออกแบบนวัตกรรมและกิจกรรมภายในห้องสมุดสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกภาษา

ธีมการตกแต่งถือเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญ สถานปนิกผู้ออกแบบห้องสมุดประชาชนจะใส่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ท้องถิ่นของย่านนั้น ๆ เช่น

ห้องสมุดที่ถูกถ่ายรูปลง Instagram บ่อยที่สุดในสิงคโปร์อย่าง library@orchard ได้รับการออกแบบต่างจากห้องสมุดอื่น ๆ ด้วยการออกแบบในแนวคิด Design Thinking เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ พร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่าง music@orchard ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้ฟังเพลงแร็ปและเพลงร็อคในห้องสมุด หรือ comics@orchard ที่ห้องสมุดของรัฐบาลให้บริการยืมหนังสือการ์ตูนกับประชาชนเป็นครั้งแรก ส่วนหนังสือของที่นี่จะเน้นเรื่องการออกแบบและงานศิลปะเป็นหลัก

สิงคโปร์ดึงคนเข้าห้องสมุดได้มากขนาดไหน

ในปี 2022 มีผู้เข้าใช้บริการห้องสมุดประชาชน หอจดหมายเหตุ และเยี่ยมชม the Former Ford Factory รวม 16.5 ล้านคน มีอัตราการยืมหนังสือ 38.6 ล้านรายการ มีการจัดกิจกรรม 18,000 ครั้ง ในปี 2021 มีผู้เข้าใช้บริการห้องสมุดประชาชน หอจดหมายเหตุ และเยี่ยมชม the Former Ford Factory รวม 11.5 ล้านคน มีอัตราการยืมหนังสือ 37.9 ล้านรายการ มีการจัดกิจกรรม 15,000 ครั้ง ที่สำคัญคือจากสถิติแล้ว คนสิงคโปร์เกือบทุกคนเคยเข้าห้องสมุดประชาชนอย่างน้อย 1 ครั้ง

คนไทยชอบอ่านหนังสือที่บ้าน ไม่เข้าห้องสมุด

ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาห้องสมุดในประเทศไทยหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนตกแต่งใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย มีเทคโนโลยีทัดเทียมห้องสมุดในประเทศพัฒนาหลายแห่ง มีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่าในปี พ.ศ. 2551 ประชาชนอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน 71% ห้องสมุด 4.6% และในปี พ.ศ. 2561 ประชาชนอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน 91% ห้องสมุด 0.6%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเข้าห้องสมุดน้อยลงคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบกับภาพจำของคนไทยว่าห้องสมุดเป็นพื้นที่ของนักเรียนนักศึกษา พอหมดช่วงวัยนี้ ทุกคนก็เข้าห้องสมุดน้อยลง และอีกหนึ่งอย่างคือ ไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่เปลี่ยนไป ทำให้ห้องสมุดกลายเป็น co-working space มากกว่าการอ่านหรือยืมหนังสือ

สิ่งที่น่าคิดทบทวนอีกครั้งคือ วิธีการเรียนรู้มีหลากหลายวิธี ทั้งการฟัง การอ่าน การพูดคุย หากห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรคนให้มีความรู้และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ห้องสมุดก็สามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงหนังสือโดยไม่ต้องอ่านก็ได้

สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สะท้อนให้เห็นว่าหนังสือเป็น ‘กุญแจ’ สำคัญไปสู่ความรู้ด้วยวิธีสร้างสรรค์ อย่างการหยิบหนังสือมาเล่านิทานให้เด็กฟัง หรือทำภาพ AR ไว้ในหนังสือ ทำให้เด็ก ๆ เดินไปหยิบหนังสือมาอ่านมากขึ้น

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ความรู้ เพื่อมาพัฒนาตัวเอง และเป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศชาติ นี่คือโจทย์สำคัญ แล้วคุณล่ะ จำได้ไหมว่าเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?


ที่มา:
https://workpointtoday.com/singapore-library-policy/
https://www.lovethatdesign.com/project/harbourfront-library-singapore/
https://www.nlb.gov.sg/main/about-us/press-room-and-publications/media-releases/2023/NLB-Year-in-Review-2022
https://www.nlb.gov.sg/main/about-us/press-room-and-publications/media-releases/2022/National-Library-Board-Year-In-Review-2021
https://www.channelnewsasia.com/singapore/big-read-public-libraries-far-dying-singapore-3945351
https://www.thekommon.co/the-remaking-of-singapores-public-libraries/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า