คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล “ยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ จุดเริ่มต้นการเกิดงาน PPI”

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ… จุดเริ่มต้นการเกิดงาน PPI”

แพ็ค พริ้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 หรือ PPI 2019 คืองานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในทวีปเอเซีย เพราะเป็นงานที่ผู้เข้าร่วมชมงานจะได้เห็นถึงกระบวนการที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่แนวคิด การผลิต และครอบคลุมทุกภาคส่วนของการบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จะจัดขึ้นในวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค กรุงเทพฯ

นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่ Thai Print Magazine ได้มีโอกาสเข้าพบกับ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล – รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอดีตนายกสมาคมการพิมพ์ไทย เพื่อที่จะเข้าสัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของงาน PPI ที่นับว่าเป็นงานนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยและเหล่าประเทศในแถบเอเซีย “PPI จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของพันธมิตร 3 ฝ่าย คือ สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Messe Dusseldorf ผู้จัดงาน DRUPA หรืองานพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ครับ”

“ผมต้องขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ผมดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์ไทย ผมได้ประกาศนโยบายสำคัญในปี พ.ศ.2546 คือ ยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ในภูมิภาคอาเชี่ยน (Regional Printing and Packaging Hub) และตั้งเป้าการส่งออกสิ่งพิมพ์มูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปีพ.ศ.2550 เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยเน้นผลิตเพื่อใช้เองภายในประเทศเท่านั้น ไม่ใช่สินค้าส่งออก”

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซี่งขณะนั้นได้มีมิชชันนารี่ชาวอเมริกัน ชื่อหมอบรัดเลย์ เป็นผู้นำเครื่องพิมพ์ที่ใช้แล้วเครื่องแรกเข้าสู่ประเทศไทย หลังจากนั้นการพิมพ์ของไทยได้มีการพัฒนาและขยายตัวไปตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้นตลอด การปฎิรูปด้านการศึกษา ทำให้คนไทยอ่านหนังสือมากขี้น ส่งผลดีให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยเจริญรุดหน้าขึ้นตามลำดับ

สมาคมการพิมพ์ไทยก่อตั้งขึ้นมา 72 ปี เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์ เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ และร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง สนับสนุนและช่วยเหลือกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพิมพ์มากกว่า 3,000 แห่ง และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร คือตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หมายถึง ตั้งแต่ปลูกป่าต้นไม้โตเร็ว มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานผลิตกระดาษคุณภาพ และโรงพิมพ์ต่างๆ ก็มีการติดตั้งเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย กอปรกับได้บุคลากรคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานซึ่งสำเร็จการศึกษาที่ดีมาช่วยงานและต่อยอดธุรกิจของครอบครัว ประเทศที่เป็นผู้นำการส่งออกทางด้านสิ่งพิมพ์ในขณะนั้นคือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคน วัสดุการพิมพ์ทุกอย่างต้องนำเข้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงมองว่าประเทศไทยน่าจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถส่งออกสิ่งพิมพ์ได้

ยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซี่ยน และตั้งเป้าจะส่งออกสิ่งพิมพ์มูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี พ.ศ.2550 นั้น นับว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวเลขการส่งออกสิ่งพิมพ์ของไทยในเวลานั้น เริ่มจากระดับที่ต่ำแทบจะเป็นศูนย์ อีกทั้งยังมีเวลาเตรียมการเพียง 4 ปีเท่านั้น ทางสมาคมการพิมพ์ไทยได้มอบหมายให้คณะพาณิชย์ศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสศอ. กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นผู้จัดทำแม่บทแผนยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ เพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์จุดแข็งและจุดด้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซี่ยน โอกาสและความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการส่งออกในภูมิภาคได้ ยกตัวอย่างเช่น วิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีทรัพยากร ต้องนำเข้าเครื่องจักร กระดาษ หมึกพิมพ์ และแม่พิมพ์ทั้งหมด และมีประชากรราว 5 ล้านคนเศษ มีจำนวนโรงพิมพ์น้อยกว่าไทยหลายเท่า จึงยังสามารถเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาคนี้เป็นเวลานานกว่า 30 ปี พบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์ได้เปรียบก็คืออดีตเคยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ทำให้ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากอังกฤษเป็นอย่างดี สำนักพิมพ์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงทั้งหลายของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็พากันมาเปิดตั้งสาขาในสิงคโปร์เกือบครบ และใช้สิงคโปร์เป็นฐานการผลิตสิ่งพิมพ์ส่งกลับไปประเทศอังกฤษและอีกส่วนหนึ่งก็ส่งมาขายในประเทศต่างๆ ในเอเซีย ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญของไทยคือ จะทำให้ผู้ซื้อสิ่งพิมพ์จากทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นทางเลือกใหม่ของเขา ความพร้อมที่ว่านี้ไม่เพียงแต่เชิงปริมาณจำนวนโรงพิมพ์ที่มีมากกว่า แต่ต้องรวมถึงการยอมรับเรื่องของคุณภาพงานพิมพ์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และจุดแข็งอีกหนึ่งข้อของสิงคโปร์ที่เห็นได้ชัดจากการศึกษา คือ นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการพิมพ์แล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางการจัดงานนิทรรศการงานประชุมและสัมมนาต่างๆ มากมายในระดับภูมิภาค รวมทั้งงานแสดงนิทรรศการทางด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปกติ งาน DRUPA ซึ่งเป็นงานจัดงานแสดงการพิมพ์ระดับโลก เปรียบเสมือนงานโอลิมปิกทางด้านการพิมพ์ จัดขึ้นที่เมือง Düsseldorf ประเทศเยอรมัน ในทุกๆ 4 ปี โดย Messe Düsseldorf โดยได้ทำการเปิดสาขาของบริษัทขึ้นที่สิงคโปร์ในนาม Messe Düsseldorf Asia เพื่อจัดแสดงการพิมพ์ระดับภูมิภาคแทรกระหว่างกลางทุกๆ 2 ปี ซึ่งก็ได้ดำเนินการจัดแสดงมาเป็นเวลานานแล้ว ก็ทำให้ยิ่งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

จากการผลการศึกษาแผนแม่บทฯ ของจุฬาลงกรณ์ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยก็มีศักยภาพและความพร้อมในด้านนิทรรศการไม่ด้อยกว่าสิงคโปร์ อีกทั้งมีเสน่ห์หลายอย่างที่สามารถดึงดูดให้คนต่างชาติมาชมงานและถือโอกาสท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำหรับจัดงาน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม อาหารการกินก็อร่อยและอุดมสมบูรณ์ โรงแรมที่พักก็มีมากมาย อีกทั้งคนไทยก็น้ำใจและมิตรไมตรีในการต้อนรับที่ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้น หนึ่งในจิ๊กซอร์ตัวสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ ทำอย่างไร? ที่จะให้ย้ายการจัดงานนิทรรศการด้านการพิมพ์จากสิงคโปร์มาไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพงาน APEC Investment Mart 2013 จัดโดย BOI เดิมงานนี้มีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นปี และบริษัทต่างๆก็ได้จองพื้นที่ก่อนล่วงหน้าจนเต็ม ภายหลังมีบริษัทหนึ่งซึ่งจองพื้นที่ไว้แล้วเกิดติดขัดปัญหาบางประการ จึงขอแจ้งยกเลิกพื้นที่กับทางBOI พอดีทางสมาคมการพิมพ์ไทยได้มีการประชุมร่วมกับ BOI จึงได้รับการสอบถามจากทาง BOI ว่าทางสมาคมการพิมพ์ไทยสนใจเข้าร่วมแสดงนิทรรศการนี้ บนพื้นที่ 400 ตร.เมตร หรือไม่? คำตอบคือ สนใจเข้าร่วม เพราะเป็นโอกาสอันดีที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยจะได้มีโอกาสแสดงให้คนไทยและคนต่างชาติทั่วโลกได้รับรู้ถึงความพร้อมที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาค เพราะนี่คือเวทีที่จะมีผู้นำของประเทศสมาชิกต่างของ APEC จะเข้ามาประชุมและเยี่ยมชมนิทรรศการพร้อมกองทัพสื่อมวลชนทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ปัญหาความท้าทายสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. เวลาเตรียมงานกระชั้นชิดมาก เหลือเพียง 55 วันเท่านั้น 2. พื้นที่ใหญ่ถึง 400 ตร.ม. จะเอาอะไรมาแสดง งบประมาณจะหามาจากที่ไหน? และ 3. คอนเซ็ปท์ไอเดียของบู็ทจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะจะต้องเป็นไฮไลท์เป็นที่สนใจของงาน APEC ครั้งนี้

ทางสมาคมการพิมพ์ไทยต้องทำงานแข่งกับเวลา ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดงานครั้งนี้ และมีข้อสรุปว่า ภายใต้อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยที่ผสมผสานทั้งเอกลักษณ์ความเป็นไทยผสมผสานกับความสามารถทางเทคโนโลยีที่ลงตัว จึงเป็นที่มาของการสร้างบ้านกระดาษทรงไทยใหญ่ที่สุดในโลกบนพื้นที่ 400 ตารางเมตร สร้างด้วยกระดาษลูกฟูก จัดพิมพ์ลวดลายต่างๆ ด้วยระบบออฟเซ็ตและอิงค์เจ็ท มีความแข็งแรง สวยงาม ทุกส่วนใช้กระดาษ 100% เชื่อมต่อด้วยกาวเท่านั้น ไม่มีการใช้วัสดุอื่นใดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หรือไม้ และสามารถใช้งานได้จริง รองรับน้ำหนักคนจำนวนมากที่เดินขึ้นมาเยี่ยมชมบนบ้านพร้อมๆ กันตลอดระยะเวลา 10 วันของการจัดงาน APEC Investment Mart 2013 ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของงานตามที่วางแผนไว้ บรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ พร้อมคณะผู้ติดตามจะต้องมาขอชมบ้านกระดาษทรงไทยนี้ทุกคน จากการนับและทำการบันทึกพบว่าตลอดทั้งงานมีผู้เข้ามาชมบ้านกระดาษทรงไทยกว่า 300,000 คนและได้รับการบันทึกอยู่ใน The Guinness Book World of Records มีนักข่าวทั้งไทยและจากต่างประเทศมาร่วมทำข่าวบ้านกระดาษทรงไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแพร่ข่าวนี้ออกไปทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้กับอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยและประเทศไทยในขณะนั้นเป็นอย่างมาก เป็นถือว่าเป็นการเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการอย่างสวยงามของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านฝีมือของคนไทยที่ไม่เป็นรองใครในโลกและความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำด้านการพิมพ์ในภูมิภาคนี้ต่อไป

และในปีเดียวกันนั้นเป็นปีก่อนการจัดงาน DRUPA 2004 ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติกันมา ทาง Messe Düsseldorf ต้องดำเนินกิจกรรม Road Show เพื่อประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้า 1 ปีในเอเชีย และประเทศไทยเป็นหนึ่งในเส้นทางที่ Messe Düsseldorf มาเยือน ในงานแถลงข่าวการจัดงาน DRUPA 2004 ร่วมกับสมาคมการพิมพ์ไทย จึงมีโอกาสที่ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารของ Messe Düsseldorf ผู้จัดงาน DRUPA เกี่ยวกับนโยบายและแผน “ยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ” ที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาค รวมทั้งเรื่องราวบ้านกระดาษทรงไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกในงาน APEC Investment Mart 2013 และอีกไม่นานประเทศไทยกำลังจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (Print City) แห่งแรกของโลกสร้าง หรือเมืองการพิมพ์ที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทในประเทศไทย เมื่อได้รับฟังเช่นนั้นก็สร้างความประหลาดใจและแสดงความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่ได้ยินเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติของไทยอย่างมากแก่ผู้บริหารของ Messe Düsseldorf เพราะเขาให้เหตุผลว่า Print City หรือเมืองการพิมพ์นั้นสมควรจะต้องเกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เพราะถือว่าเป็นมหาอำนาจทางด้านด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์เบอร์ 1 ของโลก หรือถ้าจะเป็นญี่ปุ่นก็จะไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่นัก แต่นี่จะเกิดแห่งแรกของโลกในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมาก หลังจากนั้นในต้นปี 2004 ก่อนมีการจัดงาน DRUPA 2004 ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนของปีนั้น ทาง Messe Düsseldorf ได้มีหนังสือเชิญมายังคุณเกรียงไกรให้เป็นวิทยากรรับเชิญในงาน DRUPA 2004 ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะนับว่าเป็นคนไทยคนแรกที่มีโอกาสได้ขึ้นไปในเวทีระดับโลกของ DRUPA การพูดในวันนั้นได้รับความสนใจอย่างมาก และมีผู้เข้าร่วมฟังอย่างล้นห้องจนที่นั่งที่เตรียมไว้ไม่พอ ต้องยืนฟังกันเต็มห้อง คงเพราะเป็นเรื่องใหม่ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ ผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์จากทั่วโลกที่มาร่วมงาน DRUPA ก็อยากมาฟังถึงแนวคิดเรื่อง PRINT CITY แห่งแรกของโลกที่กำลังจะเกิดในประเทศไทย ต้องการทราบถึงการเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยประกาศจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผู้ส่งออกสิ่งพิมพ์ในภูมิภาคอาเซี่ยน หลังจากที่พูดเสร็จก็ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับประธานพร้อมผู้บริหารระดับสูงของ Messe Düsseldorf จึงเปิดโอกาสที่ดีในการอธิบายพร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพต่างๆ ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ว่าเรามีโอกาสที่จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในอนาคต และชักชวนให้เขาพิจารณาย้ายมาจัดงานนิทรรศการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่จัดอยู่ที่สิงคโปร์มายังประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นความร่วมมือกันระหว่าง 3 องค์กรคือ Messe Düsseldorf Asia (บริษัทลูกของ Messe Düsseldorf) สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย จัดงาน Pack Print International หรือ PPI ขึ้นครั้งแรกในปี 2550

ทิศทางการปรับตัวของคนในอุตสาหกรรมการพิมพ์

เนื่องจากเทคโนโลยีของโลกได้เปลี่ยนไป นับตั้งแต่มีการปฏิวัติเรื่อง Digital Transformation หลายๆ อย่างเริ่มเข้าสู่โลกของดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็เป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์ทางด้านสื่อต่างๆหรือการอ่าน พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนจากรูปการอ่านแบบเดิมบนหนังสือบนกระดาษเปลี่ยนไปอ่านบนหน้าจอมือถือแทน การเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ระบบสังคมและการค้าที่เปลี่ยนไป เกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขึ้นมา เกิดมนุษย์พันธุ์ Start up ขึ้นมา สินค้าชุมชน หรือสินค้า OTOP มีจำนวนมากขึ้น มีการซื้อขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การซื้อของจะซื้อบ่อยและถี่ขึ้นเป็นลักษณะการซื้อแบบปลีกย่อยมากขึ้น เพราะฉะนั้นอนาคตของงาน PPI แนวทางจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องไปทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ Digital Transformation จะเกิดศัพท์ที่เราได้ยินกันก็คือ Disruption หรือการถูกรบกวน ป่วนและทำลายล้างอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ส่งผลให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมทุกอย่างได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว เนื่องจากโลกเปลี่ยนกติกา เปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด การอ่านและบริโภคข่าวสารยังมีอยู่และมากขึ้นทุกวัน เพียงแต่เปลี่ยนในรูปแบบใหม่ หรือ Platform ใหม่ ผู้บริโภคต้องการข่าวสารที่สดใหม่ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่านี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอุตสาหกรรมการพิมพ์ และมิใช่เพียงแต่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เท่านั้น อุตสาหกรรมอื่นๆ ในสภาอุตสาหกรรมที่คุณเกรียงไกร ที่่ได้รับมอบหมายให้ดูแลอยู่ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะฉะนั้นทุกอุตสาหกรรมจะต้องเร่งในการปรับตัวและพัฒนาตัวเองเพื่อหนีจากการถูกไล่ล่าโดยเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด นำเครื่องจักรที่ทันสมัยเช่นพวกระบบออโตเมชั่นหรือหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานที่กำลังขาดแคลนและแพงสูงขึ้น การหาเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเดิมของตนเอง เช่น จากเคยสนใจแต่ลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มียอดปริมาณการซื้อขายจำนวนมาก มาให้ความสำคัญกับลูกค้ารายเล็กจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นมา เป็นต้น

ในขณะการพิมพ์อื่นๆ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแต่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กำลังได้รับความนิยมและกำลังเติบโตจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ พลาสติก แก้ว หรือกระป๋องเหล็ก รวมไปถึงวัสดุอื่นๆ ที่สามารถย่อยสลายเองได้ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการปรับตัว แต่แน่นอนว่าในอนาคตตลาดนี้อาจจะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันการมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรมากขึ้นเป็น Printing and Packaging Solution เริ่มจากการให้การปรึกษา การออกแบบ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับลูกค้า รวมไปถึงการขนส่งหรือการเก็บรักษา และอีกด้านหนึ่งก็คือการเปลี่ยนไปทำ Digital Printing ที่มีการลงทุนน้อย แต่ก็มีข้อเสียคือมีคู่แข่งทั้งจากคนในอุตสาหกรรมและคนนอกอุตสาหกรรมเข้ามาแข่งตัดราคาเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นคนที่มาลงทุนทางด้าน Digital Printing และจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องมีทีมในการออกแบบหรือสร้างสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกว่าคนอื่นๆ เพื่อทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และผลกำไรที่ดีกว่าการรับจ้างพิมพ์เพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องรู้จักการทำตลาดออนไลน์ การสร้างและพัฒนา Application ที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย ที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ปัจจุบันเกือบทุกคนมี Smart Phone อยู่ในมือสามารถสร้างอิสรภาพในการเลือกซื้อสินค้าได้เอง

จากการที่รัฐบาลที่ผ่านมาชูนโยบายหลักคือ Thailand 4.0 เนื่องจากปัญหาใหญ่ของประเทศ 2 เรื่อง คือ 1. กับดักรายได้ปานกลางของประเทศ ประชากรอยู่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลาง คือประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคน/ต่อปี มาเป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี เพราะยังยึดรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ คือทำมากได้น้อย แต่วันนี้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ ทำน้อยแต่ได้มูลค่ามาก ดังนั้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนโมเดลของประเทศยังพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิมๆ อยู่ แม้ว่าจะมีอัตราเติบโตทุกปีแต่ก็ค่อนข้างช้า จะเห็นจากตัวเลข GDP ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโตเพียงปีละ 3-3.5% เท่านั้น การจะก้าวไปสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้ระดับสูงคือต้องสูงกว่า 12,500 เหรียญสหรัฐต่อคน/ต่อปีนั้นอาจต้องใช้เวลานาน 2. ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ กอรปกับที่ไทยมีอัตราการเกิดของประชากรอยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้ช่วงวัยที่เป็นแรงงานหายไป ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวหลายล้านคน จึงเป็นที่มาของการกำหนดอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า S-Curve Industry ที่แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพสูงและเป็นผู้นำอยุ่แล้ว (First S-Curve) เพื่อการเตรียมตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีในไทยมาก่อน สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เองนั้น นอกจากจะเจอกับปัญหาถูกDisruptจากเทคโนโลยีด้านดิจิทัลแล้วยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง เพราะจะต้องใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงใหม่ๆ ถึงแม้ว่าสิ่งพิมพ์จะไม่ได้อยู่ในธุรกิจเป้าหมายของทางรัฐ แต่สิ่งที่ทำได้คือ ผู้ประกอบการต้องรู้จักนำเอานวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการบริการได้ตามที่ลูกค้าต้องการ สิ่งเหล่านี้คือแนวทางที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องรีบพัฒนาให้สอดคล้องไปกับแนวทางนโยบายของภาครัฐและของโลกด้วย

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของอาเซียน ทั้งทางด้านการยอมรับของคุณภาพงานพิมพ์ การเป็นศูนย์กลางของการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาค แม้ว่าตัวเลขการส่งออกสิ่งพิมพ์จะลดลง ประเทศไทยมีการจัดงานการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ (Thai Print Awards) ซึ่งเป็นเวทีแสดงคุณภาพและศักยภาพของงานพิมพ์ในแต่ละแขนง ซึ่งสอดคล้องไปกับการประกวดสิ่งพิมพ์ Asian Print Awards หรือการประกวดสิ่งพิมพ์ระดับอาเซียน ในอดีตประเทศที่ได้รับรางวัลสูงสุดคือ สิงคโปร์ และฮ่องกง ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ เนื่องจากในขณะนั้นผู้ประกอบการยังไม่มีความเข้าใจเรื่องกติกาการประกวด ต่อมาในภายหลังที่มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติขึ้น หนึ่งในยุทธศาสตร์การพิมพ์คือ การจัดการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้ก่อนที่จะส่งงานพิมพ์ไปประกวดในระดับสากลต่อไป หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็สามารถคว้าอันดับหนึ่งของการประกวดสิ่งพิมพ์ระดับนานาชาติ (Asian Print Awards) เป็นระยะเวลาหลายปีจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้คุณภาพสิ่งพิมพ์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับ World Class แต่อาจต้องมีการปรับและเพิ่มประเภทของการประกวด ต้องหาหัวข้อใหม่ที่เกี่ยวกับข้องกับระบบการพิมพ์ Digital มากขึ้น เป็นต้น

อุตสาหกรรมการพิมพ์แบ่งได้หลายหมวดหลายประเภท มีทั้งสิ่งพิมพ์ที่เป็น Commercial Printing หรือสิ่งพิมพ์ทั่วไป สิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือ Publication หรือ Publisher ตำราเรียน และสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นสิ่งพิมพ์ที่ถือว่าแบ่งสัดส่วนทางการตลาดมากที่สุดคือ สิ่งพิมพ์ที่เป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น Supporting Industry ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ค่อนข้างเห็นได้ชัด เนื่องจากสินค้าทุกประเภทไม่ว่าเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า เครื่องประดับ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ต้องมีบรรจุภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และในปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี ต้องร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน

นอกจากนี้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในหลายๆ ด้าน เช่น การจัดพิมพ์ตำราเรียน ที่สมาคมการพิมพ์ได้มีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือให้การจัดพิมพ์ตำราเรียนของทั้งประเทศเป็นระบบที่ดี และลดต้นทุนในการผลิต ในขณะเดียวกันควรสนับสนุนในการทำ Business Matching ร่วมกับนานาประเทศเพื่อหาตลาดใหม่ให้ผู้ประกอบการของไทยได้จับมือกับผู้ที่ต้องการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในประเทศเพื่อนบ้าน สังเกตได้จากยอดการค้าชายแดนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าประเทศเพื่อนบ้านมีกำลังซื้อมากขึ้น และที่สำคัญในสายตาของประเทศเหล่านั้นมองว่าสินค้าจากประเทศไทยเป็นสินค้าทีมีคุณภาพที่รัฐบาลควรสนับและส่งเสริม

ในมุมมองของคุณเกรียงไกร ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมการพิมพ์ไทย “ผมยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ไม่ควรท้อในเรื่องการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ ต้องมีสติ บางครั้งการอยู่โดดเดี่ยว อาจทำให้มองไม่เห็นทางออก วิธีที่ดีที่สุดคือการรวมตัวกัน สมาคมการพิมพ์ไทยถือว่าเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการทั้งประเทศ หากมีการรวมตัวกันจะช่วยให้เกิดจุดแข็ง ทราบความต้องการ และทิศทางที่ชัดเจน และที่สำคัญ สมาคมการพิมพ์ไทยมีศูนย์การฝึกอบรมที่สามารถแนะนำให้ความรู้ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคต่างๆ ทางด้านการพิมพ์ หรือการบริหาร การออกแบบ ต่างๆ ที่ครบวงจร ซึ่งจัดในทุกสัปดาห์ ขอเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และช่วยเปิดมุมมอง เปิดความคิดหรือสะกิดไอเดียของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มคนในแวดวงเดียวกันที่สามารถช่วยกันคิดช่วยกันสร้าง ช่วยกันแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีสิ่งไหนที่ทำไม่ได้หากมีความร่วมมือกัน” คุณเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า