สาระน่ารู้เกี่ยวกับทางการพิมพ์ออฟเซต ปัญหาและวิธีแก้ไข (3)

สาระน่ารู้เกี่ยวกับทางการพิมพ์ออฟเซต ปัญหาและวิธีแก้ไข (3)

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
anan.tanwilai@gmail.com

ในการพิมพ์ออฟเซต นอกจากการปรับตั้งเครื่องพิมพ์ วัสดุที่นำมาใช้พิมพ์ เป็นสิ่งที่คนทำงานควรที่จะมีความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ควรมีการศึกษาถึงการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ รวมถึงเทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์ เพื่อทำให้การปฏิบัติงานพิมพ์ สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง และทำให้ได้คุณภาพงานที่ดีนั้นเอง

ในการลดการใช้แอลกอฮอล์ในน้ำยาฟาว์นเทน โดยจะทดลองใช้น้ำยาฟาว์นเทนที่ผสมสารลดแรงตึงผิว และไม่ใช้แอลกอฮอล์อีกต่อไป ไม่ทราบว่าจะส่งผลต่อการพิมพ์งานหรือไม่ อย่างไร

ในการพิมพ์ออฟเซต ส่วนประกอบของน้ำยาฟาว์นเทนที่ใช้ จะมีการผสมแอลกอฮอล์ เพื่อลดแรงตึงผิวของน้ำยาฟาว์เทน เมื่อแรงตึงผิวของน้ำยาฟาว์นเทนลดลง จะส่งผลต่อการลดการใช้น้ำลดลงในการพิมพ์ด้วย ในปัจจุบันผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำยาฟาว์นเทนหลายราย ได้มีการผลิตน้ำยาฟาว์นเทนที่ใส่สารลดแรงตึงผิวของน้ำ และเริ่มมีทดลองใช้กันในหลายโรงพิมพ์ ซึ่งการลดใช้แอลกฮอล์ในการพิมพ์เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นการลดการใช้สารระเหยในโรงพิมพ์ แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนน้ำยาฟาว์นเทนในการพิมพ์งาน ต้องมีการทดลองการใช้งานก่อน เนื่องจากการน้ำยาฟาว์นเทนนั้น ในการใช้ในการพิมพ์งานด้วยการพิมพ์ออฟเซต จะมีการรวมตัวกับหมึกพิมพ์ได้ในระดับหนึ่ง หากน้ำยาฟาว์นเทนที่นำมาทดลองใช้นั้น ไม่สามารถรวมตัวกับหมึกพิมพ์ได้ หรือมีการรวมตัวกันมากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาต่อการพิมพ์งาน และที่สำคัญ หากน้ำยาฟาว์นเทนมีสมบัติที่ไม่ดี จะส่งผลให้เกิดคราบบนผ้ายางและส่งผลต่อคุณภาพของงานพิมพ์ ดังนั้นในการเลือกใช้น้ำยาฟาว์นเทนแบบมีส่วนผสมของสารลดแรงตึงผิว ต้องมีการทดลองพิมพ์กับหมึกพิมพ์ที่ทางสถานประกอบการใช้ เพื่อหาข้อสรุปก่อนนำมาใช้งานจริงต่อไป

ค่าสีและค่าความเข้มของสี มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ค่าสี คือ ค่าที่บอกลักษณะของสีทางด้านความสว่าง สีสันและความอิ่มตัวของสี โดยปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือวัดสีที่อ่านค่าในโหมด CIE L*a*b* ซึ่งจะบอกลักษณะของสีที่วัดนั้นเอง โดยค่า L* จะบอกถึงความสว่างของสี ส่วนค่า a* และ b* จะบอกถึงสีสันและความอิ่มตัวของสี แต่ค่าความเข้มของสี หรือค่าความดำ, เดนซิตี้ (density) จะบอกถึงค่าความเข้มของสี โดยวัดจากการสะท้อนของแสง ที่สามารถสะท้อนมาจากหมึกพิมพ์ที่พิมพ์ลงบนวัสดุพิมพ์ โดยจะสามารถบอกได้ถึงความหนาของชั้นฟิล์มของหมึกพิมพ์ ดังนั้นทั้งสองค่า จึงเป็นการบอกลักษณะของคุณภาพงานพิมพ์ที่แตกต่างกัน

ในการพิมพ์ เราสามารถพิมพ์ให้หมึกพิมพ์มีค่าความดำที่เท่ากัน แต่ค่าสีที่แตกต่างกัน เนื่องจากหมึกพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ มีหลากหลายผู้ผลิต ซึ่งแต่ละผู้ผลิต จะมีการใช้ผงสีหรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ค่าสีที่แตกต่างกันไป ปัจจุบันในการผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ การวัดค่าความดำ เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ อาจจะเพียงพอในการควบคุมคุณภาพงานพิมพ์ แต่ในงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ การวัดค่าสีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการใช้สีพิเศษในการพิมพ์ ทำให้การควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ ต้องมีการตรวจสอบค่าสี เพื่อควบคุมการผลิตสีในงานพิมพ์ สำหรับการทำมาตรฐานทางการพิมพ์ในปัจจุบัน ค่าความดำและค่าสี ได้ถูกกำหนดตามลักษณะของกระดาษที่นำมาพิมพ์ เพื่อให้โรงพิมพ์ที่ต้องการทำมาตรฐาน สามารถกำหนดค่าความดำและค่าสีได้อย่างถูกต้องในการผลิตงานพิมพ์ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดนั้นเอง

ลำดับสีทางการพิมพ์ มีความสำคัญอย่างไรต่อการพิมพ์งานออฟเซตสี่สี หากมีการลำดับสีผิด จะเกิดปัญหาอะไรได้บ้าง

โดยทั่วไปการพิมพ์ออฟเซตสี่สี ประกอบด้วยสี Cyan, Magenta, Yellow และ Black โดยจะมีการเรียงลำดับสีดังนี้ Black, Cyan, Magenta และ Yellow โดยการเรียงลำดับสีดังกล่าว มีการกำหนดมาจากการค่าความเหนียวหนืดของหมึกพิมพ์ (tack) โดยค่าความเหนียวหนืดของหมึกพิมพ์สีดำ จะมีค่าความเหนียวหนืดที่มากที่สุด จึงต้องพิมพ์สีดำเป็นสีแรก หากมีการเรียงลำดับสีที่ผิดไป จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างในการพิมพ์งาน อาทิเช่น สีภาพพิมพ์มีการผิดเพี้ยน หรือปัญหาหมึกถอนกระดาษ โดยปัญหาหมึกถอนกระดาษ จะเกิดจากการที่นำหมึกพิมพ์ที่มีค่าความเหนียวหนืดสูงกว่า มาทำการพิมพ์ทับหมึกพิมพ์ที่มีค่าความเหนียวหนืดต่ำกว่า จะทำให้หมึกพิมพ์ที่มีค่าความเหนียวหนืดมากกว่า ถอนสีของหมึกพิมพ์ที่มีความเหนียวหนืดน้อยกว่า นอกจากนี้ปัญหาที่เจอในหลายโรงพิมพ์ที่มีการใช้หมึกพิมพ์หลายยี่ห้อ บางครั้งช่างพิมพ์ทำการผลิตงานพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ยี่ห้อ A และหมึกพิมพ์หมด จึงไปนำหมึกพิมพ์ยี่ห้อ B มาใช้ในการผลิตงานแทน ซึ่งทำให้ภาพพิมพ์มีสีที่ผิดเพี้ยนไป เนื่องจากแต่ละผู้ผลิต มีการเลือกใช้ผงสีและสูตรในการผลิตหมึกพิมพ์ที่แตกต่างกัน และอาจทำให้เกิดปัญหาหมึกพิมพ์ถอนกระดาษได้ เนื่องจากหมึกพิมพ์แต่ละยี่ห้อ มีการกำหนดค่าความเหนียวหนืดที่ต่างกันไปตามสูตรหมึกพิมพ์ของผู้ผลิต ดังนั้นในการพิมพ์งานสี่สี ควรใช้หมึกพิมพ์ยี่ห้อเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว

ผ้ายางมีลักษณะเป็นเงา และไม่สามารถถ่ายทอดภาพพิมพ์ได้ดี เกิดจากอะไรและแก้ไขอย่างไร

ผ้ายางเป็นเงา เกิดจากการสะสมของหมึกพิมพ์และฝุ่นกระดาษบนผ้ายาง ทำให้การถ่ายทอดภาพพิมพ์มีปัญหา โดยมากจะเกิดจากการปัญหาจากการเลือกใช้น้ำยาล้างผ้ายางที่ไม่ถูกต้อง น้ำยาล้างผ้ายางที่ดี ควรจะสามารถล้างคราบหมึกพิมพ์ได้ดี และไม่ทำลายผิวหน้าของผ้ายาง หากเกิดจากน้ำยาล้างผ้ายางไม่ดี ให้ลองปรึกษาผู้จำหน่าย ในกรณีที่เกิดจากการสะสมที่เกิดจากฝุ่นกระดาษ ให้แก้ไขโดยล้างผ้ายางด้วยน้ำเปล่า หลังจากการล้างผ้ายางด้วยน้ำยาล้าง เนื่องจากน้ำยาล้างผ้ายางจะทำหน้าที่ล้างหมึกพิมพ์ที่ติดค้างให้หลุดออกไป แต่ฝุ่นกระดาษจะไม่สามารถถูกล้างออกไปด้วย ดังนั้นการล้างผ้ายางด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง จะสามารถช่วยลดปัญหาจากการสะสมของฝุ่นกระดาษได้ นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าว ยังสามารถเกิดจากหมึกพิมพ์ที่มีการบดผงสีที่ไม่ละเอียด ทำให้เกิดการสะสมของหมึกพิมพ์บนผ้ายางได้เร็ว ควรปรึกษาผู้ผลิตหมึกพิมพ์ในการแก้ไขปัญหา

เครื่องคอมพิวเตอร์ทูเพลท (Computer to Plate, CtP) สามารถแบ่งได้กี่ประเภท แบบใดที่ดีที่สุด

เครื่องคอมพิวเตอร์ทูเพลท หรือ CtP ที่รู้จักกัน สามารถแบ่งตามการสร้างภาพบนแม่พิมพ์ได้ 2 ประเภท คือ แบบใช้ความร้อนหรือเทอร์มอล (Thermal) และแบบใช้แสงยูวี (UV Light) ในการสร้างภาพ คงไม่สามารถบอกได้ว่า แบบใดดีที่สุด แต่ควรจะเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับงานที่โรงพิมพ์ผลิต โดยส่วนใหญ่แม่พิมพ์ที่สร้างภาพด้วยความร้อน จะมีอายุการใช้งานทนทานกว่า เหมาะกับการพิมพ์งานที่มีจำนวนพิมพ์ค่อนข้างมาก แต่แม่พิมพ์ที่สร้างภาพด้วยแสงยูวีจะมีอายุการใช้งานที่น้อยกว่า แต่เหมาะกับงานที่พิมพ์จำนวนน้อย เพราะต้นทุนของแม่พิมพ์จะถูกกว่า แต่สำหรับคุณภาพของแม่พิมพ์ การสร้างภาพด้วยความความร้อน ยังมีคุณภาพที่สูงกว่า เพราะการสร้างภาพด้วยแสงยูวี ยังมีข้อจำกัดทางด้านเวลาในการฉายแสง เวลาการล้าง ที่ยังส่งผลต่อคุณภาพของเม็ดสกรีน นอกจากนี้ยังคงต้องพิจารณาทางด้านค่าใช้จ่ายของหลอดไฟเลเซอร์ที่ทั้งสองประเภท มีราคาที่แตกต่างกัน มีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นการเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์ทูเพลทให้เหมาะสมกับโรงพิมพ์ คงต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าว ก่อนการตัดสินใจในการเลือกซื้อ

ที่โรงพิมพ์พิมพ์งานตัวอักษรสีแดงทับบนพื้นสีน้ำเงินที่มีเจาะขาวเป็นรูปตัวอักษรอยู่ พบปัญหาว่ามีเส้นขอบขาวรอบตัวอักษร เนื่องจากมีการพิมพ์เหลื่อมอยู่ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

การพิมพ์เหลื่อม สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีการปรับตั้งฉากหน้า ฉากข้างที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการปรับตั้งการเดินกระดาษที่ไม่ถูกต้อง แต่ปัญหาดังกล่าว มีวิธีที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่การทำแม่พิมพ์ โดยในการทำแม่พิมพ์ โปรแกรมในปัจจุบันจะสามารถสั่งในคำสั่งแทรปปิ้ง (Trapping) ได้ โดยเป็นคำสั่งที่ทำให้พื้นที่ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ขึ้น และพื้นทึบที่เจาะขาวมีขนาดเล็กลง ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ทำให้เกิดการทับซ้อนกันได้ดีมากยิ่งขึ้นระหว่างตัวอักษรที่พิมพ์ทับลงบนพื้นทึบที่มีการเจาะขาว และเมื่อแผ่นพิมพ์มีการพิมพ์เหลื่อมไม่มาก ปัญหาขอบขาวระหว่างตัวอักษรและพื้นทึบก็จะไม่เกิดขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า