‘คุณเกรียงไกร’ สร้างแรงบันดาลใจสู่อนาคต

p70-77_2

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล…ปาฐกถา
ร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่ ‘อุตสาหกรรมการพิมพ์’ ทศวรรษใหม่

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะที่ปรึกษานายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวปาฐกถาในงานแถลงข่าว การจัดประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติครั้งที่ 11 ว่า การจัดประกวดฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาทุกด้าน ดูได้จากแต่ละปีจะมีการวางคอนเซ็ปต์การจัดงานอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการส่งออกของภาครัฐ โดยการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไปทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนของไทยเสนอตัวต่อผู้ซื้อทั่วโลก ปรากฏว่า ได้เปรียบทางด้านราคาต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าคือ คุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นที่มาของการจัดประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งพิมพ์ไทยให้ดีขึ้น

“เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ผมเองได้มีโอกาสพบกับผู้จัดงาน Asian Print Awards พร้อมทั้งได้คุยกันว่า อยากจัดงานประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติที่เรียกว่า Thai Print Awards เพื่อยกระดับมาตรฐานสิ่งพิมพ์ของเรา แล้วจะนำผู้ประกวดของเราที่ชนะการประกวดในแต่ละกลุ่มเข้าไปประกวดในเวทีใหญ่คือ Asian Print Awards จากวันนั้นมา 10 ปีแล้วที่ประสบความสำเร็จ จากที่เราไม่เคยได้เหรียญทองหรือเหรียญเงินบนเวที Asian Print Awards มาก่อนหน้านั้นเลย เราได้เหรียญทองแดง 1 เหรียญหรือ 2 เหรียญในทุกกลุ่ม แต่หลังจากที่เราประกวด Thai Print Awards ในทุกกลุ่ม ทำให้เราเข้าใจแล้วว่ามาตรฐานโลกต้องการอะไร ปรากฏว่าคนไทยทำได้และผู้ประกอบการไทยทำได้ เราสามารถขึ้นไปยืนบนเวที Asian Print Awards เป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายปี จนวันนี้สามารถกล่าวได้ว่า ในอาเซียนหรือเอเชีย ไม่มีใครไม่รู้จักประเทศไทยด้านคุณภาพมาตรฐาน ทั้งการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์”

p70-77_3

อุปสรรคคือเทคโนโลยี

ปัจจุบัน..อุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมการพิมพ์เห็นจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เนื่องด้วยโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งพิมพ์ที่เคยคิดว่าคงจะอยู่ได้อีกหลายสิบปีอาจไม่ใช่ เพราะขณะนี้ได้ถูกกระทบด้วยระบบดิจิตอลและโลกออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาท และมาแรงและรวดเร็วยิ่งกว่าคลื่นสึนามิ ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษา อย่างเช่น ”โกดัก”ที่อดีตเคยขายฟิล์มมียอดขายเป็นอันดับหนึ่ง เคยมีประวัติมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบกล้องดิจิตอลเป็นรายแรก แต่ด้วยความกลัวว่า ระบบดิจิตอลจะเข้ามาทำลายธุรกิจหลักตัวเอง เลยเก็บไว้ไม่พัฒนาต่อเนื่อง แต่พอถึงวันหนึ่งค่ายอื่นๆ นำมาพัฒนาแข่งขัน ทำตลาดสู้กัน จนในที่สุดฟิล์มโกดักก็หายไปจากตลาด และปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นผู้นำตลาดกล้องดิจิตอล

ในทำนองเดียวกัน หลายคนปลอบใจตัวเองทุกวันว่า สิ่งพิมพ์ไม่มีทางหายไป แต่ท้ายสุดจะเหมือนฝันร้าย ย้อนกลับไปดูอุตสาหกรรมการพิมพ์ในปี 2543 ทั่วโลกประกาศว่า จะเข้าสู่ยุคยกเลิกใช้กระดาษ (Paperless Society) ตอนนั้นหลายคนไม่เชื่อว่า จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะสมัยนั้นดูเอาจากประเทศที่เจริญแล้วและดูจากยอดบริโภคกระดาษเป็นหลัก แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ได้เห็น โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั่วโลกได้ล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว

p70-77_4

เราอยู่ดีมีสุขใช่ไหม?

หลายปีที่ผ่านมามีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ขณะที่หลายคนดูถูกดูแคลนว่า สิ่งเหล่านั้นจะเข้ามาทดแทนเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร หลายคนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เวลาผ่านไป 10 ปี คงได้เห็นแล้วว่า 10 อุตสาหกรรมดาวรุ่งคืออะไร คือ การแพทย์ชั้นสูง, พลังงานทดแทน ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมการพิมพ์กลับไม่ติดอันดับดังกล่าวแล้ว แถมยังจะเป็นอุตสาหกรรมดาวร่วงเสียอีก ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ทั้งที่มีการหารายได้ทุกวัน มีการพิมพ์ทุกวัน แต่ทั้งในอเมริกาและยุโรปต่างทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ขยายวงมาถึงวงการนิตยสารแล้ว

หากพูดถึงความท้าทายของประเทศไทยในปีนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาแล้วว่า เราจะเข้าสู่ยุคอีเพย์เม้นท์ (e-payment) ภายในเดือนกรกฎาคม 2559 ฉะนั้น การใช้กระดาษต่างๆ ในระบบการชำระเงินจะถูกลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งคาดว่า จะประหยัดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท โดยกระดาษสิ่งพิมพ์ที่เป็นแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ จะหายไป

“ถ้าถามตัวเองในช่วง 1-2 ปีว่า งานพิมพ์มากขึ้นหรือลดลง เราทำงานมีความสุขขึ้นใช่ไหม หรือเครียดขึ้น ผมเจอเจ้าของโรงพิมพ์บอกเลยว่า ปีสองปีนี้เราสุขภาพดีขึ้น มีเวลาไปออกกำลังกาย ไปตีกอล์ฟ มีเวลาอยู่ครอบครัว ไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่ความท้าทายเหล่านี้เกิดกับทุกอุตสาหกรรม เรากำลังปฏิรูป (reform) ทุกอย่างทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคการผลิต เพราะความสามารถการแข่งขันลดลง และการส่งออกก็ลดลงอย่างมีนัยต่อเนื่อง” คุณเกรียงไกร กล่าว

p70-77_5

การปรับตัวเพื่อการแข่งขัน

สำหรับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) มีสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ประเทศเพื่อนบ้านมีค่าแรงงานถูกกว่าประเทศไทย มีทรัพยากรมากกว่าประเทศไทย ซ้ำร้ายยังได้เปรียบสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากร GSP จากประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ก็จะเป็นค่าแรงที่ไม่ได้ถูกอีกต่อไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกกว่า

ในความเป็นจริงแล้ว อัตราค่าแรงดังกล่าวในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไม่สามารถหาแรงงานที่มีคุณภาพมาทำงานได้ อีกทั้งเป็นอัตราค่าแรงในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่มีการว่าจ้างกันมายาวนานแล้ว ที่สำคัญ..แรงงานคุณภาพในทุกวันนี้จ่ายสูงกว่าอัตรานี้ด้วย

ภาครัฐกำลังพยายามปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น มีการพูดถึง 10 อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่เรียกว่า “เอส เคิร์ฟ” (S-Curve) คือ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีแข็งแกร่งแล้วแต่ต้องต่อยอด และอีก 5 อุตสาหกรรม “นิว เอส เคิร์ฟ”(New S-Curve) เป็นอุตสาหกรรมใหม่ถอดด้าม ฉะนั้น 10 อุตสาหกรรมนี้หมายมั่นปั้นมือว่า จะทำรายได้ทดแทนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เคยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต แต่ปัจจุบันมียอดการผลิตลดลง เนื่องจากโยกย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

p70-77_7

ทิศทางที่จะเดินต่อไป

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือ “ฟู้ด ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์” (Food for the Future) หรืออุตสาหกรรมอาหาร ด้วยความที่เราเป็นครัวโลก (Kitchen for The World) อย่างงานแสดงสินค้าไทยเฟล็ก (THAIFEX) เมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการจัดนิทรรศการแสดงอาหารที่ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียและจัดได้ยอดเยี่ยมมาก นี่คือลูกค้าเราทั้งหมดที่ไปแสดงสินค้า เพราะเขาต้องการแพ็คเกจจิ้ง อุตสาหกรรมเรามีช่องทาง..ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ต้องเคลื่อนย้ายตามให้ทันเท่านั้นเอง

“เราจะส่งออกอาหารสำหรับคนเบาหวานกินได้ จึงต้องใช้นวัตกรรมการผลิตให้กินได้ หรือเราจะส่งออกรถเพื่ออนาคต ทุกวันนี้เราเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ประกอบรถส่งออกระดับโลก โดยเฉพาะรถปิกอัพ รถแวน เราพูดถึงรถแห่งอนาคตคืออะไร คือต่อไปรถจะไม่ใช้ฟอสซิว-พลังงานที่เป็นน้ำมัน แต่จะเป็น EV หรือการใช้เติมไฟแบตเตอรี่ ญี่ปุ่นมีสถานีชาร์ตไฟแล้ว ติดตั้งมากกว่าปั้มน้ำมันและแก๊สในญี่ปุ่นแล้ว อนาคตโลกจะเปลี่ยน น้ำมันจะไม่มีค่า อาจหายไปเลยก็ได้”

“เรามีบริษัทซับพลายเชนผลิตอะไหล่เพื่อนำไปประกอบรถจะหายไปทันทีถ้าปรับตัวไม่ได้ ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมพร้อมเขาอาจไปผลิตในประเทศมาเลเซีย เวียดนาม แต่ไม่ใช่ไทย รัฐบาลเล็งเห็นแล้ว กำลังเตรียมตัวให้พร้อม อันนี้พูดถึงอุตสาหกรรมเก่าครับ เกษตรครบวงจรเพื่ออาหาร ต่อไปการเกษตรจะผลิตเพื่อผลิตยารักษาโรค เป็นต้น”

ขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ (Robot and Machine Automation)เป็นสิ่งสำคัญมาก หลายประเทศในโลกใช้หุ่นยนต์แทนคนได้ประสิทธิภาพดีกว่าการใช้มนุษย์ เพราะไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อย แถมฉลาดมากกว่าแล้วด้วย เนื่องจากมีการใส่โปรแกรมเพิ่มเติมเข้าไป

กลุ่มการบิน(Aviation) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน เป็นทั้งศูนย์ซ่อม ศูนย์ประกอบเครื่องบิน และศูนย์ผลิตอะไหล่การบิน ซึ่งสามารถพัฒนาให้มีมูลค่ามากขึ้น เป็นศูนย์กลางโลจิติกส์ของภูมิภาคนี้ได้

กลุ่มพืชเศรษฐกิจ (Bio Economy) เนื่องด้วยประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ เพราะต่างคนต่างปลูก แย่งกันปลูก ทำให้เกิดสภาวะสินค้าล้นตลาด นำมาสู่ราคาสินค้าตก อาทิ ยางพารา ยูคาลิปตัส จะเห็นได้ว่าราคาตกลงทุกวัน แต่ถ้ามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่อยอดให้ครบวงจร เชื่อว่าประเทศไทยสามารถเป็นไบโอฮับ (Bio Hub) ได้ไม่ยาก

หรือแม้แต่กลุ่มดิจิตอล ล่าสุดทางกระทรวงไอซีทีเพิ่งอนุมัติงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อปูพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค (Infrastructure) เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ในส่วนของอุตสาหกรรมการพิมพ์เองก็เช่นกัน ตลอด 10 ปีที่ได้จัดประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ เป็นการพิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า เรามีฝีมือดีมีมาตรฐาน ถือเป็น 10 ปีที่เป็นทศวรรษแรก แต่ต่อไปนับจากนี้ จะขยายเข้าไปในโลกดิจิตอลและโลกออนไลน์ได้อย่างไร ซึ่งคือปีนี้ปีที่ 11 จึงเป็นปีที่ 1 ของการเริ่มใหม่ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อความอยู่รอดและการครองตลาดเออีซี ซึ่งมีขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 620 ล้านคน ด้วยการตั้งเป้าเป็น Printing and Packaging Hub

“ผมว่าเป็นไปได้ที่เราจะเป็นที่ 1 ในภูมิภาคนี้ทั้งหมด ผมเป็นประธานคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มแก้ว พลาสติก กระดาษ และโลหะ แต่เราต้องขยายและทำให้ดี ขณะเดียวกัน แล้วการพิมพ์ล่ะ..วันหนึ่งๆ เปิดมือถือมากกว่ามองหน้าลูกเมียอีก ตื่นมาสิ่งแรกคือเปิดมือถือ ก่อนนอนหลับฝันไปถึงมือถือ ฝันยังฝันว่ากำลังแชตเลย สมาคมการพิมพ์ไทย เราเตรียมพร้อมครับ การประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติครั้งนี้ จึงกำหนดให้เป็นคอนเซ็ปต์ “Inspire the Future แรงบันดาลใจสู่อนาคต” ในปีสองปีนี้ท่านอาจรู้สึกห่อเหี่ยว มองไปไหนไม่เห็นอนาคต แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น เราต้องร่วมสร้างแรงบันดาลใจด้วยกันทั้งอุตสาหกรรมสู่อนาคต การประกวดสิ่งพิมพ์ครั้งนี้จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ สร้างมิติและมุมมองใหม่ ปรับปรุงร่วมกับประเภทของการประกวดใหม่ 4 รายการ”

p70-77_8

แรงบันดาลใจสู่อนาคต

อันดับแรก ทศวรรษใหม่กลุ่มใหม่มีอะไรบ้าง มี 1.การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) 2.การออกแบบ 3.ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเราไม่เคยมีการประกวดในเวที Thai Print Award มาก่อน แต่ 3 รายการนี้เพิ่งบรรจุใหม่ เพื่อส่งประกวดเข้าในเวที PM Export Awards ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เราเคยมี Mr.Alf Carigan เป็นประธานการตัดสินการประกวด Thai Print Award ตั้งแต่เริ่มต้นและได้ปูพื้นฐานมา 10 ปี และปีนี้มีประธานคนใหม่คือ Mr.Bob (Robert James) จะมาร่วมวิ่งเข้าสู่ทศวรรษใหม่ร่วมกันบนเวที Thai Print Award และก้าวสู่เวที Asian Print Award รวมทั้งเวทีใหม่คือ PM Export Awards ซึ่งเป็นเวทีแห่งการโชว์ศักยภาพให้ภาครัฐยอมรับอุตสาหกรรมการพิมพ์มากยิ่งขึ้น

“ขณะนี้ต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่เห็นความสำคัญของการพิมพ์ ไม่ใช่งานง่าย จากที่เคยลดความสำคัญของสิ่งพิมพ์และมองเราว่าเป็นซันเซ็ต (sunset) เพราะเขาอ่านข้อมูลข่าวสารจากโซเชี่ยลมีเดีย อ่านหนังสือจากแทบเลต จึงมองว่า สิ่งพิมพ์เราร่วงแน่นอน แต่ปัจจุบันกลับมาให้การส่งเสริมและสนับสนุนอีกครั้ง เพราะเห็นว่าสิ่งพิมพ์มีอนาคต”

ในส่วนการส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ก่อนหน้านี้เราเคยได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีการค้า 5 ปี และมีภาษีอากรนำเข้าเครื่องจักรเป็นศูนย์ แต่นโยบายใหม่ต้องการเทคโนโลยีใหม่และมูลค่าเพิ่ม (value added) เราจึงตกจากกลุ่มอุตสาหกรรมชั้น A มาอยู่ชั้น B โดยได้แต่ยกเว้นภาษีเฉพาะนำเข้าเครื่องจักร แต่ภาษีการค้าไม่ได้แล้ว ฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีประโยชน์กับเรา

“แต่ว่าต้องขอบคุณนายกสมาคมการพิมพ์ไทย-คุณพิมพ์นารา จิรานิธิศนนท์, อุปนายกสมาคมฯ-คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช และอดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท.-คุณวิชัย สกลวรารุ่งเรือง ที่ได้ไปร่วมคุยกับบีโอไอ เสนอภาพการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เป็นแบบมูลค่าเพิ่ม (high value added) ทั้งที่เหลือเวลาอีก 2 วันจะเอาเข้าครม. เราใช้เวลาพรีเซ็นต์ 1 ชั่วโมง ผู้บริหารบีโอไอก็ประจักษ์ว่า อ้อ..การพิมพ์มิติใหม่เป็นแบบนี้เองหรือ เรายอมให้ลดเกรดไปอยู่กลุ่ม B ถ้าเป็นการทำงานพิมพ์แบบเก่า แต่แบบใหม่ที่เรานำเสนอคือเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรม เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต เมื่อยื่นเข้าครม. ผ่านเลย เพราะเป้าหมายตรงเป๊ะ”

p70-77_9

ฉะนั้น การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นอุตสาหกรรมเดียวในประเทศไทยที่ได้อยู่ใน 2 กลุ่ม คือกลุ่มเดิม(กลุ่มB)ที่โดนลดเกรดไปแล้ว เป็นการพิมพ์แบบเดิม ไม่ได้สิทธิทางภาษีการค้า แต่กลุ่มใหม่คือ A3 ได้กลับมาอยู่ที่เดิม ได้ทั้งภาษีการค้าและการลดหย่อนภาษีนำเข้าด้วย

Inspire The Future จะเกิดขึ้นไม่ได้..ถ้าเราทุกคนในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไม่สู้ ถ้าเราปล่อยให้เป็นเป็ดง่อย แพ้ก็แพ้ ไม่สู้ ไม่เสนอสิ่งใหม่

“ขอให้ทุกท่านร่วมมือกัน อนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร แต่อยู่ที่พวกเรา จะมีความหมายหรือไร้ความหมายอยู่ที่พวกเรา แต่เชื่อว่า เราเป็นที่ 1 ในภูมิภาคเออีซีได้ สิ่งพิมพ์เราส่งออกไปได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศเราผลิตอาหารและคอนซูเมอร์โปรดักส์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ฉะนั้น Inspire The Future เป็นปีใหม่ก้าวใหม่ ขอให้ทุกคนร่วมมือและสนับสนุนนะครับ” คุณเกรียงไกร กล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า