Introvert VS Extrovert คุณคือใคร… ?

Introvert VS Extrovert คุณคือใคร… ?

จริงๆ แล้ว สองอย่างนี้มันจะแฝงตัวอยู่ในเราเสมอ อยู่ที่ว่า เราจะรู้ไหมว่า เราเป็นใคร

รวมรวมโดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล

ในโลกของข่าวสาร เรามักจะได้ยินคำว่า Introvert Extrovert หลายคนสงสัยว่า คืออะไร แล้วมันเกี่ยวกับเราอย่างไร หรือบางคนอาจจะรู้แล้ว และ บางคนก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว สองอย่างนี้มันจะแฝงตัวอยู่ในเราเสมอ อยู่ที่ว่า เราจะรู้ไหมว่า เราเป็นใคร Introvert Or Extrovert

Introvert (อินโทรเวิร์ต) เป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย

นักจิตวิทยาได้จัดแบ่งบุคลิกลักษณะของคนออกเป็นหลายประเภทและหลายทฤษฎี นิยามที่ใช้บ่อยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ Introvert (เก็บตัว), Extrovert (ชอบเข้าสังคม) และ Ambivert (ผสมระหว่าง 2 แบบ) หลายคนเข้าใจว่า Introvert เป็นผู้ที่มีลักษณะไม่ชอบเข้าสังคม มีโลกส่วนตัวสูง รู้สึกเก้อเขินทุกครั้งที่อยู่กับคนหมู่มาก เก็บตนเองเงียบ และขี้อาย คือ คนที่มีลักษณะ Introvert แต่มีรายละเอียดที่มากกว่านั้น แบ่งออกได้หลายประเภทด้วย

Introvert คืออะไร?

อินโทรเวิร์ต (Introvert) คือ ลักษณะบุคลิกภาพแบบหนึ่งของบุคคล มีโลกส่วนตัวสูง ตามทฤษฎีบุคลิกภาพ Big Five Personality โดยบุคลิกภาพนี้ถูกให้นิยามไว้ว่าเป็นบุคลิกภาพของบุคคลที่มีทัศนคติชื่นชอบการอยู่ในโลกส่วนตัว อยู่กับอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกภายในของตนเองมากกว่าผู้คนและโลกภายนอก

ลักษณะของคน Introvert เป็นอย่างไร?

จากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่าบุคลิกภาพแบบ Introvert จะสนใจเรื่องภายนอก น้อยกว่าอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตนเอง ดังนั้นลักษณะของ Introvert ในด้านทัศนคติและพฤติกรรมจะเป็นดังนี้

  1. ชอบใช้เวลาอยู่กับตนเองเมื่อมีเวลาว่าง ผู้ที่เป็นอินโทรเวิร์ตจะใช้เวลาอยู่กับตนเอง และมักรู้สึกได้รับการเติมเต็มมากกว่าการออกไปพบปะสังสรรค์กับผู้คน
  2. หลังจากที่ต้องเข้าสังคมเป็นระยะเวลาหนึ่ง Introvert จะรู้สึกเหนื่อย หมดแรง และต้องการพักผ่อน ด้วยการใช้เวลาอยู่กับตนเอง
  3. บุคลิกภาพแบบ Introvert มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพเงียบขรึม มีพฤิตกรรมชอบทบทวนความคิดของตนเองบ่อย ๆ แยกตัวจากสังคม ไม่ค่อยสุงสิงกับผู้คน
  4. ชื่นชอบที่จะอยู่กับเพื่อนสนิทกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่าออกไปพบเจอคนแปลกหน้า หรืออยู่ท่ามกลางคนกลุ่มใหญ่ ๆ

Introvert 4 ประเภท

อินโทรเวิร์ตแบ่งย่อยได้ 4 กลุ่มใหญ่ ตามพฤติกรรมของการเก็บตัวที่แตกต่างกัน

  1. Social Introvert: กลุ่มที่สามารถเข้าสังคมกับเพื่อนสนิทได้เหมือนคนทั่วไป แต่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคมกับคนไม่สนิท (ถือว่าใกล้เคียงกับกลุ่ม Ambivert)
  2. Introspective Introvert: กลุ่มที่ชอบใช้เวลากับความคิดตัวเอง โลกส่วนตัวสูง ทั้งเรื่องจินตนาการเรื่องของตนและสิ่งที่พบเห็นรอบตัว อาจวิเคราะห์สิ่งรอบตัวโดยไม่พูดออกมาจนถูกเข้าใจว่าไม่ได้สนเรื่องอื่น ไม่ได้กังวลกับการเข้าสังคม
  3. Anxious Introvert: กลุ่มไม่ต้องการเข้าสังคมกับใครเลย ปฏิเสธที่จะเข้างานสังคมกับคนรู้จักเสมอ เมื่อต้องเข้าสังคมจะมีความกังวลง่ายและอาจคิดแง่ลบบ่อย
  4. Restrained Introvert: กลุ่มที่ใช้เวลาคิดและเรียบเรียงก่อนจะพูด ไม่ได้กังวลเรื่องเข้าสังคมแต่ใช้เวลาเตรียมตัวเยอะ จึงมักเหมือนเก็บตัวในสายตาคนอื่น

ลักษณะ อินโทรเวิร์ต กับ ขี้อาย เหมือนกันหรือไม่?

ด้วยความที่คนแบบ Introvert ให้ความสำคัญกับโลกส่วนตัวของตัวเอง ลักษณะของคน Introvert จึงจะมีแนวโน้มที่จะแสดงทัศนคติและพฤติกรรมการแยกตัวจากสังคม เงียบ สงวนท่าที ไม่ค่อยสุงสิงกับผู้คนเท่าไรนัก จึงมักจะถูกเข้าใจผิดว่าคน Introvert จะต้องขี้อาย แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ นักจิตวิทยาแยกความแตกต่างของผู้ที่มีลักษณะ “ขี้อาย” กับผู้ที่มีลักษณะ “อินโทรเวิร์ต” ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง บุคลิกลักษณะขี้อายจะเกิดความวิตกกังวลหรือรู้สึกไม่สบายใจว่าคนอื่นกำลังตัดสินหรือคิดอย่างไรกับตัวเอง จนกลัวและเก้อเขินที่จะต้องเข้าสังคมกับผู้อื่น แต่ผู้เป็น Introvert จะสามารถเข้าสังคมได้ดี เพียงแต่จะชอบอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ

Introvert กับโรคกลัวการเข้าสังคมเหมือนกันหรือไม่?

ลักษณะของบุคลิกภาพแบบ Introvert มีความเหมือนกับโรคกลัวการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง คือ การไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีคนเยอะ ชอบใช้เวลาอยู่คนเดียวมากกว่าใช้เวลากับผู้อื่น ชื่นชอบการทำงานคนเดียว แต่อย่างไรก็ตาม Introvert และโรคกลัวการเข้าสังคม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะ Introvert เป็นเพียงบุคลิกภาพที่มีทัศนคติชื่นชอบการอยู่คนเดียวมากกว่าการเข้าสังคม ไม่ใช่โรคหรืออาการเจ็บป่วย เมื่อ Introvert ต้องเข้าสังคม พวกเขาก็สามารถเข้าสังคมได้โดยไม่เกิดอาการวิตกกังวล และมีความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น เมื่อต้องอยู่กับสังคมนาน ๆ พวกเขาจะรู้สึกหมดแรง แต่จะหายได้เมื่อได้กลับมาใช้เวลาอยู่กับตนเองสักพัก ส่วนผู้เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม ซึ่งเป็นโรคทางจิตอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกเครียด วิตกกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคมและพบปะผู้คน แม้แต่การพบปะผู้คนในชีวิตประจำวัน เช่น การออกไปห้างที่มีคนเยอะ ๆ หรือการไปโรงเรียน พวกเขาจึงมักหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม โดยที่พฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยปกติ

ปัญหาของ Introvert มีอะไรบ้าง?

ปัญหาหลักของคนที่มีลักษณะ Introvert คือ การที่คนอื่นไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น การที่พวกเขาไม่อยากพูดคุยหรือเข้าสังคม ก็มักโดนเข้าใจผิดและมองว่าเป็นคนขี้อาย เป็นโรคซึมเศร้า เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม หรือเป็นคนเห็นแก่ตัว ในบางครั้ง Introvert มักจะถูกตัดสินว่ามีความสามารถด้อยกว่าคนที่ชอบเข้าสังคม ทั้งนี้พวกเขามักถูกสังคมบอกให้ออกจากพื้นที่ของตนเอง ให้กล้าแสดงออก และพบปะผู้คนอยู่เสมอ ทำให้ผู้ที่มีลักษณะ Introvert บางคนเกิดความเครียด และพยายามที่จะเปลี่ยนตนเองให้เข้าสังคมมากขึ้น

อยากเข้าใจคนลักษณะ Introvert ต้องทำอย่างไร?

เมื่อมีงานสังสรรค์ และคน Introvert เลือกที่จะออกห่างหรืออยู่เงียบ ๆ คุณอาจจะคิดว่าพวกเขากำลังไม่อยากเข้าสังคม หรือการที่เห็นว่าพวกเขานั่งเงียบ ๆ ในขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนานแล้ว ดูไม่น่าจะมีความสุขเท่าคนที่ชอบเข้าสังคม การที่คุณคิดว่าคุณเข้าใจเขาแล้วไปบอกให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ออกจากโลกส่วนตัวมาเข้าสังคมบ้าง นั่นไม่ใช่การเข้าใจคนที่เป็น Introvert อย่างแท้จริง หากคุณมีคนรอบข้าง เช่น เพื่อน คนรัก หรือคนในครอบครัว ที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจถึงความหลากหลายของบุคคลว่ามนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านความคิด ความรู้สึก อารมณ์และความต้องการ ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert เองก็เช่นกัน พวกเขาต่างก็มีความต้องการและความสุขในแบบของตัวเอง ดังนั้นการยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่เอาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีหรือถูกต้องไปบีบบังคับให้เขาทำอะไรที่ฝืนความเป็นตัวเขา จะเป็นการเข้าใจผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ Introvert อย่างแท้จริง

คนที่มีลักษณะ Introvert มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จไหม?

การจะประสบความสำเร็จมีได้หลายวิธี และความสำเร็จประกอบไปด้วยหลากหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่เพียงแค่บุคคลิกภาพเท่านั้น คนแบบ introvert เองก็มีวิธีที่จะประสบความสำเร็จโดยใช้ศักยภาพของตนเองได้ โดยพวกเขามักจะแก้ปัญหาหรือเรียนรู้ได้ดีกว่าเมื่ออยู่กับตนเอง หรือหากคุณกังวลว่าคนใกล้ตัวซึ่งมีลักษณะเป็น Introvert ดูพูดน้อย อาจจะสื่อสารไม่เก่ง ความจริงพวกเขาสามารถเข้าสังคมหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และการเป็นคนพูดน้อย แต่เป็นผู้ฟังที่ดี ก็เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้คน Introvert มีเพื่อนดี ๆ มากมายได้ด้วย นอกจากนี้ คน Introvert ที่สามารถมองหาข้อดีของตนเอง ยอมรับ และปรับใช้ให้เป็นจุดเด่นได้ ก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ตัวอย่างคนที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มอินโทรเวิร์ตแล้วสร้างผลงานระดับโลก มีอยู่ไม่น้อย เช่น
• อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
• บิล เกตส์
• เจ.เค. โรว์ลิ่ง
• วอร์เรน บัฟเฟตต์
• อีลอน มัสก์
• และอีกมากมาย

ซึ่งต้องอ่านชีวประวัติและการใช้ชีวิตประจำวันโดยละเอียดถึงจะระบุประเภทได้ ถึงบางคนชอบออกสื่อหรืองานสังคมก็ไม่ได้หมายความว่าเป็น Extrovert หลายคนใช้ชีวิตเงียบ ๆ เพื่อสะสมความคิดสร้างสรรค์และวางแผนการทำงาน ประสบความสำเร็จการเป็นคนอินโทเวิร์ตไม่ได้แย่เสมอไป เพียงแต่รู้แบบการใช้ชีวิตจะแตกต่างไปและยากที่จะคนอื่นเข้าใจ หากปรับตัวก็สามารถเข้าสังคมและพูดคุยกับคนอื่นได้เหมือนปกติ

Extrovert คืออะไร? แล้วเราจะเป็นคนชอบเข้าสังคมได้หรือเปล่า

Extrovert หมายถึง บุคลิกที่ชอบเข้าสังคม เป็นคนที่ชอบอยู่ออกไปเจอสังคมหรือชอบให้มีผู้คนรอบข้าง Extrovert จะรู้สึกมีความสุขกับการเข้าสังคมมากกว่าการอยู่คนเดียว โดยรวมแล้ว บุคลิก Extrovert จะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงออก ส่วนใหญ่บุคคลที่มีบุคลิก “Extrovert” พวกเขาชอบการพบปะผู้คนเป็นอย่างมาก รู้สึกว่าตัวเองมีพลังในการอยู่กับผู้คนเป็นอย่างมาก พวกเขาเหล่านี้ยังไม่ชอบเก็บตัวอยู่บ้านเงียบ ๆ คนเดียว เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมาก ชอบออกไปสังสรรค์หรือปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ มากกว่า ชอบแสดงความคิดเห็น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และชอบเป็นจุดเด่นหรือเป็นจุดสนใจของสังคม นอกจากนี้พวกเขายังสามารถเริ่มต้นสื่อสารและพูดบทสนทนากับผู้อื่นก่อนได้เป็นอย่างดี มีความเป็นมิตร มั่นใจในตัวเอง เข้ากับคนอื่นได้ง่ายเป็นอย่างดี ไม่ชอบอยู่คนเดียว ชอบที่จะทำความรู้จักกับบุคคลใหม่ ๆ นับว่าเป็นทักษะที่บุคลิกตรงข้ามอย่าง Introvert อิจฉา ซึ่งในแง่ของการทำงาน คนที่มีบุคลิก “Extrovert” มักจะมีความก้าวหน้าในด้านหน้าที่การงานเพราะรู้จักเข้าหาคนที่เป็นหัวหน้าหรือเจ้านาย รู้จักพูดรู้จักคุยเป็นอย่างดี อีกทั้งพวกเขายังสามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อประสบปัญหาหรือพบเจออุปสรรค พวกเขาจะมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเพราะรู้จักกับคนมากหน้าหลายตา แต่บางทีพวกเขาอาจพูดโดยไม่คิดให้ดีก่อนและมักจะทำก่อนคิดเสมอ และพวกเขายังไม่สามารถจัดระบบความคิดของตนเองได้ดีเท่า Introvert เพราะรับรู้ข้อมูลจากบุคคลอื่น ๆ มากเกินไป ทำให้จิตใจว้าวุ่นและสับสนได้ จนรู้สึกว่าความต้องการจริง ๆ ของตัวเองคืออะไรกันแน่ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นจุดด้อยของคนที่เป็น Extrovert บุคลิกที่ตรงข้ามกับ Extrovert ก็คือ Introvert ซึ่งเป็นคนที่มีบุคลิกที่ชอบเก็บเนื้อเก็บตัว โลกส่วนตัวสูง การอยู่คนเดียว ชอบทำอะไรคนเดียวคือความสุขของพวกเขาเหล่านั้น และยังถนัดในทักษะด้านการเขียนมากกว่าการพูด Introvert ส่วนมากพูดน้อย และเลือกที่จะพูดเพียงเรื่องที่สำคัญและมีสาระเท่านั้น พวกเขาคิดมาก ชอบไตร่ตรองก่อนพูดอยู่เสมอ แต่พวกเขาไม่ค่อยเปิดใจที่จะทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ จนเสียโอกาสที่เจอคนดี ๆ ในสังคม และรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียพลังเมื่อต้องพูดคุยหรืออยู่กับคนอื่นนาน ๆ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนที่มีบุคลิก “Extrovert” หรือ “Introvert” ทุกคนล้วนมีความแตกต่างกัน แต่ทุกบุคลิกก็สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างแน่นอน เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าบุคลิกไหนถือว่าดีหรือไม่ดี อย่าให้ใครมาตำหนิคุณได้ แต่จงยืนหยัดและมีความสุขกับการเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้บุคลิกของคุณให้โดดเด่นและเกิดประโยชน์มากที่สุดอย่างไรเท่านั้นเอง

สาเหตุของคนเป็น Extrovert ปัจจัยการเลี้ยงดู

พูดง่าย ๆ ก็คือ การเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความชอบเข้าสังคมมากขึ้น การที่คุณพ่อและคุณแม่มีความคิดที่เปิดโอกาสให้ลูกมีประสบการณ์ที่กว้างขึ้น พยายามพาลูกออกไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้าน หรืออาจจะเป็นกิจกรรมครอบครัวที่สามารถทำร่วมกันได้ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ทำขนม หรือเรียนภาษา เป็นต้น เมื่อลูกต้องเผชิญกับผู้คนมากมายหรือเป็นสถานการณ์ที่ต้องเป็นจุดเด่นในสังคม คุณพ่อและคุณแม่ควรให้กำลังใจและสนับสนุนลูกอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก เพื่อให้ลูกมีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อลูกแสดงออกในทางที่ไม่ถูกต้อง ควรบอกและชี้แนะ อธิบายด้วยเหตุและผล และความนุ่มนวล ไม่ควรใช้น้ำเสียงเชิงคำสั่งหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีและกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้ายสำหรับเด็ก ซึ่งบางครั้งเด็กอาจจะไม่ถูกเลี้ยงดูให้เป็นคนเปิดเผย (Extrovert) โดยตรง แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยทางอ้อม นั่นคือ การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึง ปู่ย่า ตายาย หรือญาติ เพราะบางครั้งเด็กอาจไม่ได้อยู่กับคุณพ่อและคุณแม่ แต่จำเป็นต้องให้คนในครอบครัวดูแลแทน มีโอกาสที่เด็กจะเกิดการซึมซับพฤติกรรมอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเด็กได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มในเพื่อนในชั้นเรียน ผู้ปกครองสามารถฝึกให้ลูกมีความเป็นผู้นำ แก้ไขปัญหาเอง ถ้าลูกทำไม่ได้จริง ๆ คุณพ่อและคุณแม่ควรชี้แนะและสอนให้เขาเข้าใจและลองลงมือทำก่อน เมื่อลูกทำสำเร็จ พวกเขาจะรู้สึกภูมิใจ มั่นใจ และกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น ที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง รู้จักชื่นชมหรือชมเชย เมื่อลูกทำสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ควรใช้คำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่และเกิดความไม่มั่นใจ รู้สึกไม่มีคุณค่า และไม่มีความภูมิใจตัวเอง อย่างไรก็ตามการชื่นชมหรือชมเชยควรอยู่ในระดับที่พอเหมาะ ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตัวเองเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อลูกด้วย เช่น เมื่อลูกทำผิดพลาดก็ต้องให้ลูกรู้จักการแก้ไข ไม่ควรบอกว่าถูกหรือไม่เป็นไรตลอด ควรสอนให้ลูกรู้จักความสำเร็จและความล้มเหลวบ้าง และให้พวกเขาเรียนรู้จากความล้มเหลวหรือความผิดพลาดเหล่านั้นว่าถ้าเกิดขึ้นแบบนี้ ควรจะรับมืออย่างไรดี

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ Extrovert

สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเริ่มให้ความสำคัญกับหน้าที่และทักษะเฉพาะทางมากขึ้น แต่เราก็เห็นได้บ่อย ๆ ว่าผู้นำในสังคมส่วนมากมักมีบุคลิก Extrovert (เน้นว่าส่วนมาก ไม่ใช่ทั้งหมด) เราสามารถทำตัวแปลกแยกหรือแตกต่างได้ ตราบใดที่การตัดสินใจและการกระทำของเราไม่ไปรบกวนสิทธิของคุณอื่น คำพูดนี้ใช้ได้กับทั้งบุคลิก Extrovert หรือ Introvert คุณควรยอมรับและเคารพกับสิ่งที่ตัวเองเป็น และไม่ควรดูถูกบุคลิกของคนที่แตกต่างจากเราด้วย ควรเคารพซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนมีจุดเด่นหรือจุดแข็งที่นำมาใช้ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว คิดไว้เสมอว่า คุณอยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะมันเติมเต็มชีวิตคุณและทำให้คุณมีความสุข ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรือตัดสินว่าคุณควรเป็นแบบนั้น ต้องทำแบบนี้ คุณควรภูมิใจและรักในสิ่งที่ตัวเองเป็นจะดีที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า