การลดต้นทุนเชิงการจัดการ สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 7 (Administrative cost reduction for the printing and packaging industry, Part 7)
วิรัช เดชาสิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต
wirach.ton@gmail.com
สำหรับในเนื้อหาในฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึงการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้งานและการดูแลรักษาระบบเฟืองเปิด เซอร์โวมอเตอร์และเซอร์โวเกียร์ ในเครื่องจักรเครื่องพิมพ์ ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ลดการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนอะไหล่ และในฉบับนี้ จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับระบบควบคุมเครื่องจักร คอนโทรลเครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ทำงานร่วมกันในระบบควบคุมเครื่องจักร
1.3 การดูแลและรักษา ระบบควบคุมและคอนโทรล สำหรับเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อช่วยให้ระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวถึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและไม่ชำรุดง่าย รวมถึงการซ่อมอย่างถูกวิธีและปรับปรุงระบบใหม่ให้ทันสมัย เพราะว่าระบบควบคุมและคอนโทรลเครื่องจักร ที่เป็นชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์จะมีอายุการใช้งาน 10, 15, 20 ปี หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นส่วนภายในแต่ละแบรนด์ ลักษณะการใช้งาน ตำแหน่งที่ใช้งานในสถานประกอบการ ลักษณะการควบคุมของพนักงาน รวมถึงชั่วโมงการใช้งานของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ เป็นต้น
สำหรับอุปกรณ์ระบบควบคุมและคอนโทรล รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงในรายละเอียด มีดังนี้
1. ชุด PLC/PC ซึ่ง PLC ย่อมาจาก Programmable Logic Controller เป็นอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ มีหน่วยความจำและเก็บโปรแกรมเพื่อคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเครื่องควบคุมเชิงตรรกที่ใส่โปรแกรมได้ ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
- PLC คือ Programmable Logic Controller ต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา
- PC คือ Programmable Controller ต้นกำเนิดจากสหราชอาณาจักร
- PBS คือ Programmable Binary System ต้นกำเนิดจากประเทศสวีเดน
สำหรับในปัจจุบันนิยมเรียกอุปกรณ์ตัวนี้ว่า PLC. ซึ่ง PLC. เป็นเครื่องควบคุมอัตโนมัติ ที่สามารถใส่โปรแกรมได้ ซึ่งชุด PLC ถูกพัฒนาแทนวงจรลีเลย์อันเนื่องมาจากความต้องการให้ได้เครื่องควบคุมราคาถูก และใช้งานได้หลากหลาย และเรียนรู้ได้ง่าย ซึ่งชุด PLC ออกแบบและสร้างเพื่อให้ทนสภาพแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม และโดยเฉพาะการโปรแกรม การใช้งาน PLC ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก บำรุงดูแลรักษาง่าย เป็นต้น
สำหรับชุด PLC ที่ติดตั้งมาในตู้คอนโทรลของเครื่องจักรในแต่ละเครื่อง ถ้าเป็นเครื่องจักรแบรนด์เดียวกันแต่มีหลากหลายชนิด ปกติจะใช้ชุด PLC เหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันที่รุ่น ในบางโรงงานหรือโรงพิมพ์ที่มีเครื่องจักรหลายแบรนด์ ก็จะมีชุด PLC หลายแบรนด์เช่นเดียวกัน แต่ในบางกรณีเครื่องจักรบางเครื่องมีส่วนประกอบที่มีออฟชั่นพิเศษและแบรนด์หลักไม่ได้ผลิตในส่วนนั้น ซึ่งหมายถึงแบรนด์หลักไปซื้ออุปกรณ์ที่เป็นส่วนสำคัญของเครื่องจากต่างแบรนด์มาประกอบใช้ในเครื่องเดียวกัน ในกรณีนี้เครื่องจักรเครื่องเดียวอาจมี PLC หลายแบรนด์ เป็นต้น
สำหรับการดูแลรักษา การซ่อมบำรุง หรือการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ชุด PLC สามารถใช้งานได้อย่างดี ไม่ชำรุดง่าย และถ้าชำรุดก็มีทางออก ทางเลือก เพื่อให้เครื่องจักรมีชุด PLC พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมหรือเปลี่ยนชุด PLC ใหม่ด้วย ซึ่งชุด PLC ในปัจจุบันนี้ก็มีราคาสูงตั้งแต่หลักหลายหมื่นถึงหลักหลายแสนบาท ซึ่งมีข้อแนะนำได้ดังนี้
1. สำหรับเครื่องจักรใหม่ในปัจจุบัน ในส่วนของตู้ควบคุมที่มีอุปกรณ์ภายในมากมาย รวมถึงชุด PLC ด้วย จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศสำหรับควบคุมอุณหภูมิไว้ด้วย เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศา C (ถ้ามีคำแนะนำของเครื่องจักร ให้ตั้งอุณหภูมิตามนั้น) เพราะว่าถ้าไม่มีเครื่องปรับอากาศ จะทำให้อุณหภูมิภายในตู้สูงมากและจะส่งผลให้อุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ ที่อยู่ภายใน PLC หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ จะเสื่อมสภาพและชำรุดเร็วมาก ฉะนั้นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ต้องคอยตรวจดูว่าเครื่องปรับอากาศทำงานทำงานเป็นปกติหรือไม่ และต้องคอยทำความสะอาดชุด Filter สำหรับกรองฝุ่นให้สะอาดอยู่เสมอ
2. สำหรับเครื่องจักรเก่าที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ เราสามารถติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มได้ หรืออาจติดตั้งเฉพาะพัดลมระบายอากาศก็พอ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิภายในตู้คอนโทรลว่ามีอยู่เท่าใด และอาจติดตั้งชุด Temp Meter ไว้ที่ตู้คอนโทรล เพื่อตรวจเช็คอุณหภูมิ ซึ่งสามารถบอกให้ทราบถึงอุณหภูมิภายในตู้ได้ตลอดเวลา
3. ส่วนเครื่องจักรเก่าและมีพัดลมระบายความร้อนอยู่ที่ตู้คอนโทรลแล้ว เราต้องคอยหมั่นตรวจเช็คว่าพัดลมยังทำงานดีอยู่หรือไม่ แผ่นกรองฝุ่นชำรุดหรือต้องเปลี่ยนใหม่หรือไม่ รวมถึงทำความสะอาดให้อากาศไหลผ่านได้ดีอยู่เสมอ โดยรวมในหัวข้อนี้ก็คือ ถ้าพบสิ่งใดไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมทำงาน ก็ต้องแก้ไขให้เรียบร้อย
สรุป ใน 3 หัวข้อนี้ทางผู้เขียนจะแนะนำให้ดูแลการระบายความร้อนในตู้คอนโทรลเป็นพิเศษ เพราะว่านอกจากจะมีชุด PLC ภายในตู้คอนโทรลแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์อยู่ภายในอีกหลายชนิดที่ต้องการอุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการทำงานด้วยเช่นกัน
ข้อแนะนำ ในการซื้อเครื่องจักร เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งาน ผู้ซื้อเครื่องจักร จะต้องมีการตกลงกับผู้ขายเครื่องจักร มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ชุด PLC+Software ว่าทางผู้ขายจะให้อะไรบ้าง
1. มีการให้ชุด สำรองข้อมูลของซอฟแวร์ไว้หรือไม่ ( Backup Software) ซึ่งโดยปกติซอฟแวร์ที่ติดตั้งอยู่ในชุด PLC จะไม่หายไปไหน ยกเว้นมีอุบัติเหตุไฟไหม้ภายในชุด PLC หรือภายในตู้คอนโทรล มีน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ ไปถูกชุด PLC ทำให้เกิดการลัดวงจรทางไฟฟ้า หรือชุดจ่ายกระแสไฟฟ้า (Switching Power Supply) ที่จ่ายกระแสไฟฟ้า 12, 24 VDC. ให้ชุด PLC ชำรุด หรือการชำรุดโดยการกระทำของผู้ใช้งาน การชำรุดโดยอายุการใช้งานของ PLC เองเป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ถ้าเรามีชุดสำรองข้อมูลของซอฟแวร์ไว้ เมื่อเราเปลี่ยนอุปกรณ์ PLC, และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ชำรุดแล้ว เราก็สามารถลงซอฟแวร์ใหม่ได้ ซึ่งถ้าเราไม่มีซอฟแวร์ไว้ ราคาที่เราต้องจ่ายโดยที่ไม่ได้ทำข้อตกลงกับผู้ขายไว้ตั้งแต่ต้นจะสูงมากทีเดียว
2. ในกรณีที่ทางผู้ขายเครื่องจักรไม่มีนโยบายที่จะขายชุดสำรองข้อมูลซอฟแวร์ให้เรา แต่เสนอให้ว่าถ้าเกิดกรณีหลาย ๆ เหตุการณ์ตามที่กล่าวมา ทางผู้ขายจะมาบริการให้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาทั้งที่อยู่ในประเทศและจากต่างประเทศหรือผ่านตัวแทนจำหน่าย ทางเราเองซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องจักรต้องทำข้อตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ไว้เป็นเอกสารและเซ็นรับทราบกันทั้งสองฝ่าย เพราะไม่เช่นนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ต้องมีการใช้บริการและเห็นค่าบริการที่เสนอมา อาจจะตกใจในเรื่องของค่าใช้จ่ายได้
3. ในเครื่องจักรรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ชุด PLC. จะมีช่องพอร์ทสัญญาณและโปรแกรมปฏิบัติการเตรียมไว้สำหรับเชื่อมต่อไปยังผู้ผลิตเครื่องจักร (ผู้ผลิตเครื่องจักรจะอยู่ในหรือต่างประเทศก็ได้) ถ้ามีปัญหาอะไรที่ทางผู้ใช้งานหรือเจ้าของเครื่องจักรไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือต้องการทราบอาการที่เครื่องจักรไม่สามารถเดินเครื่องได้ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะโชว์ที่จอแสดงผลหรือจอทัชสกรีนที่เครื่องจักร เมื่อทางเราติดต่อไป ทางผู้ผลิตเครื่องจักรสามารถเชื่อมต่อสัญญาณทางอินเตอร์เน็ตเข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้ามาดูในชุด PLC. ของเครื่องจักรและสามารถเห็นข้อมูลเดียวกัน ว่าสาเหตุของระบบมีปัญหาอะไร อะไรที่ชำรุดหรือผิดปกติไป ซึ่งทางเราเองก็จะเห็นการตรวจสอบในเวลาเดียวกัน เช่นอาการหรือปัญหาที่พบ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทางผู้ผลิตเครื่องจักรจะแนะนำทางเราว่าจะต้องแก้ไขตรงไหน ชิ้นส่วนไหนชำรุดหรือเสียหาย ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะช่วยให้การปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก เพราะถ้าต้องรอให้ทางช่างเทคนิคหรือวิศวกรต้องเดินทางมาจากต่างประเทศ ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พักและอื่น ๆ ค่าแรง เป็นต้น แต่ถ้าใช้วิธีข้างต้นที่กล่าวมา อาจเสียค่าบริการเพียง 5-10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แบบรีโมท (Remote Access) นี้ทางเราก็ควรทำข้อตกลงกับทางผู้ขายไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะคิดค่าบริการอย่างไร และแต่ละครั้งคิดเท่าไร เพื่อความชัดเจนว่าจะได้รับการบริการที่ดีในราคาที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย
สำหรับในกรณีที่เป็นเครื่องจักรมือสองที่ผ่านการใช้งานนานมากกว่าสิบปีขึ้นไป ที่ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย ซื้อจากตลาดเครื่องจักรมือสอง หรือซื้อจากโรงพิมพ์อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มีข้อแนะนำเกี่ยวกับชุด PLC. ดังนี้
1. ปกติอายุการใช้งานของ PLC. ที่ใช้คอนโทรลควบคุมเครื่องจักรจะมีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้งานนานแบบนี้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของชุด PLC. ที่ใกล้จะหมดอายุการใช้งาน ทางผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรที่จะติดต่อที่ผู้ผลิตเครื่องจักรเพื่อขอซื้อชุด PLC.เพื่อเตรียมเปลี่ยนเป็นชุดใหม่พร้อมลงโปรแกรมให้สมบูรณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบควบคุมสั่งงานเครื่องจักรสามารถใช้งานต่อไปได้อีก 15-20 ปีหรือมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ทางผู้ผลิตเครื่องจักรอาจจะมีบริการให้เฉพาะกับลูกค้าที่ซื้อผ่านจากเขาเท่านั้น หรือทางตัวแทนจำหน่ายอาจจะผู้บริการแทนแล้วแต่กรณี
2. ในกรณีที่เครื่องจักรชุดนั้นไม่มีผู้ให้บริการจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ทางเราซึ่งเป็นผู้ใช้งานอาจจะต้องติดต่อกับช่างซ่อมอิสระที่สามารถเปลี่ยน ซ่อม ลงโปรแกรมชุด PLC. ใหม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ต้องหาช่างซ่อมที่มีประสบการณ์จริง ๆ มาทำให้ถึงจะประสบความสำเร็จได้
3. และในกรณีที่ไม่สามารถหาชุด PLC. เดิมมาเปลี่ยนใหม่ได้ เราอาจจะต้องมีการเปลี่ยนชุดคอนโทรลเครื่องจักรทั้งหมด ซึ่งชุดคอนโทรลอาจเป็นแบรนด์เดิมหรือเป็นแบรนด์ใหม่ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับทีมงานที่จะทำระบบใหม่เราว่าถนัดในแบรนด์อะไร และขึ้นอยู่กับฟังซ์ชั่นต่าง ๆ ของเครื่องด้วยว่าเหมาะสมกับแบรนด์คอนโทรลนั้นหรือไม่ และยังรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย ซึ่งในปัจจุบันวิธีนี้ได้มีการทำกันอย่างแพร่หลาย และส่วนมากจะเป็นการการกระทำที่ประสบความสำเร็จ
นอกเหนือจากการเปลี่ยนชุด PLC. พร้อมซอฟแวร์ใหม่ตามหัวข้อที่ 3 แล้ว ยังมีชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันกับระบบคอนโทรลเครื่องจักร ควรเปลี่ยนหรือซ่อมใหญ่พร้อมกันไปในครั้งเดียว เช่น
1. ชุดมอเตอร์แบบเอซีมอเตอร์ (AC Motor) สมควรต้องตรวจเช็คสภาพ ความต้านทานของขดลวด (Motor Stator) ถ้าไม่ดีหรือไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานก็ต้องเปลี่ยนโดยการพันขดลวดใหม่ และสำหรับชุดโรเตอร์ (Motor Rotor Shaft) ก็ต้องเช็คขนาดและสภาพของผิวเพลาบริเวณที่สวมเข้ากับชุดตลับลูกปืนทั้งสองข้างว่ามีสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ถ้าชำรุดต้องเชื่อมพอกหรือตีปลอกใหม่ เพื่อให้ผิวงานบริเวณที่สวมเข้าตลับลูกปืนนั้นอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานและต้องเช็คบริเวณปลายเพลาด้านที่ไปสวมกับคลัปปลิ้ง เกียร์ พูลเลย์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยว่าชำรุดสึกหรอหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่าชำรุดก็ต้องซ่อมเช่นเดียวกับบริเวณที่สวมตลับลูกปืน และชุดโรเตอร์เมื่อผ่านการซ่อมแล้วก็ควรเช็คบาลานซ์ศูนย์ถ่วงใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าในขณะทำงานแกนโรเตอร์จะหมุนแบบราบเรียบไม่เกิดอาการสั่น ส่วนชุดฝาครอบหัวท้ายมอเตอร์ (Motor Bearing Housing) ก็ต้องตรวจเช็คเบ้าบริเวณที่สวมกับเสื้อนอกของตลับลูกปืนด้วยว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ถ้ามีสภาพหลวม สึกชำรุด ก็ต้องซ่อมให้เรียบร้อย ปกติถ้าซ่อมแบบที่ถูกต้องก็คือคว้านเนื้อเก่าออกและตีปลอกใหม่เข้าไป หลังจากซ่อมทุกชิ้นส่วนให้อยู่ในสภาพดีแล้ว ก่อนประกอบชิ้นส่วนเข้าที่เดิม ควรเปลี่ยนชุดตลับลูกปืนใหม่ทั้งสองชุดด้วย
2. ชุดมอเตอร์แบบดีซีมอเตอร์ (DC Motor) มอเตอร์แบบนี้ถึงจะมีใช้อยู่ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ไม่มาก แต่ก็ยังมีใช้อยู่มากพอสมควร ซึ่งถ้าเป็นเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ที่อายุการใช้งานมากกว่า 20 ปีขึ้นไปจะพบเห็นอยู่หลายแบรนด์ ส่วนมากจะเป็นแบรนด์ทางตะวันตกเป็นผู้สร้างเครื่องจักร
สำหรับการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงมอเตอร์แบบดีซีนี้ก็คล้าย ๆ กันกับมอเตอร์แบบเอซี จะมีแตกต่างกันใน 2 จุดคือ แบบดีซีแกนโรเตอร์ซึ่งจะเรียกว่าแกนอาเมเจอร์ (Armature) จะมีชุดซี่คอมมูเตเตอร์ (Commutator) และชุดแปรงถ่าน (Carbon brushes) เพิ่มขึ้นมา ซึ่งการดูแลในส่วนของซี่คอมมูเตเตอร์จะต้องตรวจเช็คเป็นระยะเวลา เช่นทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี ว่ามีสภาพเป็นเช่นไร ถ้าพบว่าไม่เรียบ มีรอยไหม้ ร่องระหว่างซี่มีเศษโลหะ ผงคาร์บอน หรือสิ่งสกปรก จะต้องทำความสะอาดและซ่อมแก้ไขให้มีสภาพเหมือนเดิมพร้อมใช้งาน และถ้าพิจารณาแล้วพบว่าเกิดการชำรุดสึกหรอแบบไม่ปกติตามอายุการใช้งาน ต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขให้ถูกต้อง สำหรับในส่วนของชุดแปรงถ่านซึ่งมีอยู่หลายอัน ต้องคอยตรวจเช็คสภาพทุก ๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เช่นเดียวกัน ถ้าพบการชำรุดแบบผิดปกติ ก็ต้องรีบหาสาเหตุเพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้อง
สำหรับการดูแลรักษาและการซ่อมแซมในส่วนอื่น ๆ ของดีซีมอเตอร์ก็ทำเหมือนกับเอซีมอเตอร์
3. มอเตอร์แบบเซอร์โว (Servo Motor)
ในที่นี้มีทั้งแบบ AC Servo Motor และ DC Sevo Motor Servo Motor เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้งานสามารถสั่งการในการควบคุมความเร็ว (Speed Control), แรงบิดของมอเตอร์ (Torque Control), ระยะทางในการเคลื่อนที่ (หมุน) (Position Control) ของตัวมอเตอร์ได้ ซึ่งมอเตอร์ทั่ว ๆ ไปไม่สามารถควบคุมในลักษณะนี้ได้ และยังสามารถออกตัวอย่างช้า ๆ ได้ โดยที่ยังมีแรงบิดสูงอยู่ รวมถึงออกตัวอย่างรวดเร็วทันทีทันใดและหยุดหมุนหรือเบรคได้อย่างทันทีทันใดได้เช่นเดียวกัน
สำหรับการดูแลรักษา Servo Motor นั้น ทางผู้ใช้งานแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะว่าชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมอเตอร์แบบนี้จะทนทานและสร้างด้วยวัสดุอย่างดี ไม่ต้องดูแลรักษามาก เพราะโครงสร้างแทบจะเป็นระบบปิด ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาต่อตัวแพงกว่ามอเตอร์แบบธรรมดาหลายเท่าตัว ในขณะที่มีขนาดและแรงม้าเท่ากัน
สำหรับงานที่จะต้องดูแลชุดมอเตอร์ คือ ให้ดูแลในบริเวณคอนเน็กเตอร์สายไฟหลักที่มาจากชุด Servo Drive ที่ต่อเข้ามอเตอร์ ต้องตรวจเช็คให้ข้อต่อแน่นอยู่ตลอดเวลา พร้อมข้อต่อของสายสัญญาณที่เข้าชุด Encoder ที่อยู่ท้ายมอเตอร์ก็ต้องคอยตรวจสอบให้แน่นอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ส่วนสภาพของชุดลูกปืน ขดลวด และสภาพโดยรวมต่าง ๆ เราสามารถใช้โปรแกรมสำหรับควบคุมระบบตรวจเช็ค Load และกระแสได้ว่าเพิ่มขึ้นจากสเป็คที่กำหนดหรือไม่ หรืออย่างไร เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแก้ไขได้ถูกจุดโดยไม่ต้องเสียเวลาในการทำงาน
สรุป โดยรวมของการดูแลรักษาและแก้ไขให้มอเตอร์ทั้ง 3 แบบทำงานได้อย่างดี ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ทางผู้ใช้งานหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบต้องมีความรู้ ความสามารถ หรือมีความชำนาญที่จะทำได้อย่างดี และในการปฏิบัติงานนั้นถ้ายังไม่พร้อมที่จะทำ ต้องหาความรู้เพิ่มเติมหรือใช้บริการจากบริษัทภายนอกที่มีความชำนาญมาดำเนินการให้ ซึ่งในส่วนของเอซีและดีซีมอเตอร์จะมีความยากน้อยกว่าเซอร์โวมอเตอร์ ซึ่งทางช่างของโรงงานเองสามารถทำเองได้หลายอย่างยกเว้นการพันเปลี่ยนขดลวดใหม่ การเปลี่ยนซี่คอมมิวเตเตอร์ เป็นต้น ส่วนเซอร์โวมอเตอร์ เป็นอะไรที่ยากเกินไปที่จะทำการซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่เอง เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ที่สูงมาก ไม่เหมือนกับบริษัทห้างร้านที่ทำอยู่ทุกวัน และทางทีมช่างเขาเองก็มีการผ่านงานมาอย่างมากมาย รวมถึงต้องมีเครื่องมีพิเศษที่ใช้สำหรับวัดค่าต่าง ๆ รวมถึงการวัดแบบวิเคราะห์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้นถ้าเป็นมอเตอร์แบบเซอร์โว เราเป็นเพียงผู้ใช้งานและบำรุงรักษาบางอย่างอย่างถูกต้องก็พอ ส่วนงานซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ให้นำส่งไปใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกจะดีกว่า