แคนนอน เปิดศูนย์ EXPLORATORIUM

‘แคนนอน’ EXPLORATORIUM
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพและการพิมพ์แห่งใหม่

“แคนนอน” ผู้นำเทคโนโลยีด้านกล้องดิจิตอลและการพิมพ์ภาพดิจิตอล ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว “แคนนอน เอ็กซ์พลอราทอเรียม” (CANON EXPLORATORIUM) ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพและการพิมพ์แห่งใหม่ ณ อาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 3 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เยาวชน นิสิตนักศึกษา ที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การถ่ายภาพและการพิมพ์ภาพดิจิตอล ได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ Interactive

มร.ฮารุกิ เทราฮิระ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า แคนนอนให้ความสำคัญกับการค้นคว้าทดลองด้านเทคโนโลยี และสนับสนุนการศึกษาด้านวิชาวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด จากความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งนี้ทำให้แคนนอนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำด้านอิมเมจจิ้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

มร.ฮารุกิ เทราฮิระ (ซ้าย) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (ขวา)
มร.ฮารุกิ เทราฮิระ (ซ้าย) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (ขวา)

ทั้งนี้ บริษัท แคนนอน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการ “แคนนอน เอ็กซ์พลอราทอเรียม” (CANON EXPLORATORIUM) พร้อมกับการสร้างพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 หรือเมื่อ 28 ปีก่อน และสนับสนุนอุปกรณ์แคนนอนครบวงจรเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนเรื่อยมา

จนกระทั่งปีนี้ (พ.ศ. 2559) เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์และห้องการเรียนรู้นี้ให้ทันสมัยขึ้น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด จึงสานต่อเจตนารมย์เดิมของ บริษัท แคนนอน อิงค์ ด้วยการปรับปรุงห้อง CANON EXPLORATORIUM ให้กลายเป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีการถ่ายภาพและการพิมพ์ระบบดิจิตอลยุคใหม่ และเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเป็นรูปแบบ Interactive ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส และทดลองใช้เครื่องมือต่างๆ ในศูนย์ฯ ได้ด้วยตนเอง ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

โดยแคนนอนใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3 ล้านบาท ในการพลิกโฉมศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพและการพิมพ์ภาพดิจิตอล “แคนนอน เอ็กซ์พลอราทอเรียม” (CANON EXPLORATORIUM) ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบ Interactive ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้ระบบกล้องและเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านการทดลองด้วยตัวเองและโต้ตอบกับส่วนจัดแสดงที่เป็นระบบ Interactive ทั้งหมด โดยจุดแรกเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพ มีหน้าจอระบบสัมผัสเปรียบเทียบภาพให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้เข้าชมปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ของกล้อง เช่น ขนาดเซ็นเซอร์ ขนาดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ค่า ISO การใช้เลนส์ ระยะโฟกัส ระบบป้องกันภาพสั่นไหว ค่าสมดุลแสงสีขาว และ HDR เป็นต้น

ถัดมาเป็นเรื่องเทคโนโลยีการพิมพ์ ระบบสีที่ใช้ กระดาษ โดยมีการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างในคุณภาพของภาพพิมพ์ที่ได้ เน้นเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการบริหารจัดการเอกสารครบวงจร มีสมุดบันทึกภาพผู้มาเยี่ยมชมในระบบดิจิตอล (Digital Portrait Photo Guestbook) โดยเปลี่ยนรูปแบบสมุดเข้าเยี่ยมชมแบบเดิมๆ ให้เป็นสมุดเยี่ยมชมในรูปแบบดิจิตอล ที่รวบรวมรูปภาพของผู้ที่มาเยี่ยมชมเป็นไฟล์ภาพ และแขกที่มาชมสามารถปริ๊นต์ภาพ กลับไปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปิดศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพ “แคนนอน เอ็กซ์พลอราทอเรียม” เป็นการเพิ่มเติมความหลากหลายให้กับพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ โดยนอกจากผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตของเทคโนโลยีด้านภาพจากสิ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังได้สนุกกับการเรียนรู้แบบ Interactive ในห้องนี้อีกด้วย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่น่าสนใจซึ่งเยาวชนและผู้ที่รักการถ่ายภาพไม่ควรพลาด

นอกจากศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพ Canon Exploratorium แล้ว ในบริเวณเดียวกันนั้นยังมี พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จัดแสดงวิวัฒนาการกล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ กระบวนการถ่ายภาพตั้งแต่ยุคเริ่มต้น พ.ศ. 2382 เช่น Daguerrotype, Wet and Dry Plate กล้องถ่ายภาพส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, กล้องถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7, กล้องถ่ายภาพส่วนพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และกล้องหายากในอดีต เช่น กล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มตัวแรกของโลก กล้องรัสเซียที่เป็นต้นแบบของกล้องโลโม่ กล้องสายลับที่ใช้กันในช่วงสงครามเย็น, การก๊อปปี้ภาพถ่ายภาพแรกของโลกที่ถ่ายโดยชาวฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1826 รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่ส่งไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อทำเป็นภาพขนาดจิ๋วสำหรับกล้องส่องที่เรียกว่า Stanhope เป็นต้น

แคนนอน เอ็กซ์พลอราทอเรียม” (CANON EXPLORATORIUM) และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม ทั้งนี้ หากสนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ สามารถทำจดหมายเพื่อขอวิทยากรบรรยายได้ด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2218-5581-2

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า