อนาคตอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ โดยพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช

 

อนาคตอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่

The Next Normal – The Future of Printing and Packaging in Thailand

พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช

 

บทคัดย่อ

ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลใหม่ ๆ ต่างเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการพิมพ์เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจเชิงถดถอย หรือให้อานิสงค์ในแง่บวก ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ประกอบการว่าเป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทไหน วางตำแหน่งแผนธุรกิจ (Business Plan) ของบริษัทฯ ตนเองไว้อย่างไร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัว นำความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบ นำการใช้นวัตกรรมทางด้านวัสดุการพิมพ์ชนิดใหม่ ๆ ไปจนถึงเทคนิคการสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นตอนหลังการพิมพ์ที่หลากหลาย มาพัฒนาสินค้าให้มากขึ้น เพื่อรับมือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในยุคประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลก ทำให้เกิดผลกระทบอย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่ถาโถมเข้าใส่สุขภาพชีวิตของผู้คน สังคม เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ โดยผลกระทบนี้จะยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีวิธีหรือวัคซีนตัวใดหยุดยั้งการแพร่ระบาดนี้ได้ ผู้ประกอบการในอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยจึงต้องศึกษาเรียนรู้ ปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพการแข่งขัน ด้วยการปรับรูปแบบธุรกิจและค้นหาวิธีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้คนในยุค New Normal หรือฐานวิถีชีวิตใหม่หลังจากนี้ให้ได้

คำสำคัญ: อนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย, ประเทศไทย 4.0, ฐานวิถีชีวิตใหม่

 

Abstract

It is without a doubt that the print landscape is going through a transformation and this, in turn, has a growing influence on processes in the industry – from conquering new dimensions with creative design, innovative materials to value-added finishing techniques that engage the senses in previously unknown ways to create entirely new experiences. Global trends such as the circular economy, artificial intelligence, the digital economy, and connected consumers are forces driving this transformation. Thailand’s printing and packaging landscape are no different and against this fast-changing global marketplace, it is essential for Thai business owners and industry players in the printing and packaging industry, to adapt themselves and push forward into the digital economy and be at the forefront in order to drive Thailand 4.0. By the way, The COVID-19 pandemic has changed the ecosystem of the world, It has produced a tsunami of new signals that are impacting people’s life and its effects will continue. Business leaders should keep this in mind as they prepare for the new normal. Specifically, for Thailand’s printing and packaging sectors, printing companies will need to adapt to new competitive landscapes, revamp business models and find new ways to create value. In a bid to heighten efforts to prepare Thailand’s printing and packaging industries for the future and better position Thai companies for global opportunities.

Keyword: Thailand’s printing and packaging landscape, Thailand 4.0, New normal

 

1.บทนำ

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) อุตสาหกรรมอื่น ๆ ในเกือบทุกอุตสาหกรรม สินค้าต่าง ๆ ต้องมีสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในการสื่อสารการขาย ตลอดจนปกป้องระหว่างการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ดังนั้นอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จึงเติบโตไปตาม GDP ของประเทศ สร้างมูลค่ารายได้ให้กับประเทศ ทั้งจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี อีกทั้งประเทศไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จากต้นน้ำถึงปลายน้ำอยู่ในประเทศทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การปลูกไม้เพื่อผลิตกระดาษเป็นวัตถุดิบสำหรับการพิมพ์ กระบวนการออกแบบและทำแม่พิมพ์ (Pre-Press), กระบวนการพิมพ์ (Press) และการสร้างมูลค่าเพิ่มหลังการพิมพ์ (Post-Press) อีกทั้งแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ทำให้คุณภาพสิ่งพิมพ์ของประเทศไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก ดังจะเห็นได้จากประเทศไทยได้รับรางวัลการประกวดสิ่งพิมพ์ ในระดับนานาชาติติดต่อกันต่อเนื่องหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Printing and Packaging Hub)

อย่างไรก็ดีตลอดปีที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในเรื่อง Digital Disruption การเผชิญกับภาวะสงครามนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อ Corona Virus หรือ Covid-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่ถาโถมเข้าใส่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างไม่ทันตั้งตัว เกิดผลกระทบต่อ Eco-system ทั้งระบบทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนและสังคมเปลี่ยนแปลงไป

รูปที่ 1 Covid-19 ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

 

2.เหตุจำเป็นสู่การปรับตัวของผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรม

การที่ภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นระดับ SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ต้องเผชิญกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน Lock Down ของประเทศอันเนื่องมาจากแพร่ระบาดของ Covid นั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นเพื่อให้ประชาชนในประเทศมีความปลอดภัย ในชีวิตและสุขภาพสูงสุด ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองไปสู่ฐานวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน Work From Home จากที่บ้าน การประชุม การเรียนหนังสือผ่านระบบ Online การสั่งอาหาร Food Delivery การซื้อสินค้าผ่านระบบ E-Commerce แทนการไปซื้อที่ร้านค้า

ด้วยเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษา มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับกระบวนทัศน์ และปรับธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปอนาคต

 

3.ประเด็นความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ ในอนาคตของประชาชนมีผลกระทบต่อธุรกิจ

ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ส่งผลต่อการเปลี่ยนครั้งใหญ่ต่อภาคธุรกิจการค้าและการบริการ รายได้ครัวเรือน พฤติกรรมการใช้จ่าย กิจกรรม ไลฟ์สไตล์ และยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้คนในสังคมยังเกิดความวิตกกังวลสูงสุดอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนที่จะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid ได้

รูปที่ 2 ผลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นความวิตกกังวลในวิถีชีวิตต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

จากภาพจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 20,006 คน ใน 27 ประเทศทั่วโลก มีความวิตกกังวลในการดำรงชีวิตระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid เป็นอันดับแรกมากถึง 47% เปลี่ยนแปลงไปจากการสำรวจช่วงก่อน Covid ซึ่งโดยมากผู้คนจะกังวลในประเด็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงาน ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ปัญหาการเมือง อาชญากรรมและความรุนแรง เป็นต้น

Ipsos ได้เผยผลวิจัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต ความคิดเห็น และพฤติกรรมของผู้คนในอาเซียน รวมถึงคนไทย อันเป็นผลจากการต้องอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ถึง 3 ระลอก และย้ำให้เห็นว่า “วัคซีน” ยังเป็นความหวังที่ทุกคนต่างรอคอย Covid ทำให้การค้าการตลาดเปลี่ยนแปลง รายได้ครัวเรือน – พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์ – กิจกรรมไลฟ์สไตล์ – ความกังวล และความต้องการการดูแลจากรัฐ เปลี่ยนไปดังที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

รูปที่ 4 ผลสำรวจการเกิดการแพร่ระบาดรอบ 3 ในภูมิภาคอาเซียน จะส่งผลกระทบต่อความกังวลในรายได้ของผู้คนในแต่ละประเทศมากน้อยเพียงใด

สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ผู้คนชะลอการซื้อสิ่งของที่มีมูลค่าสูงออกไป ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นภาวะวิฤตของหลายๆ อุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาพชะงักงัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เสื้อผ้า หรือกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ แต่หากสถานการณ์ Covid คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น คาดว่าธุรกิจเหล่านี้จะกลับมาขยายตัวมากขึ้นเหตุจากอุปสงค์ที่ถูกกดทับมาตลอดช่วงการแพร่ระบาด

รูปที่ 5 ผลสำรวจการใช้จ่ายในสินค้าและบริการชนิดใด เปรียบเทียบก่อนและหลังการแพร่ระบาดรอบ 3 ในภูมิภาคอาเซียน

โดยพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าประเภทต่าง ๆ ของคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วยกันยังคงมีความกังวลต่อรายได้ที่หดหายไประหว่างการแพร่ระบาดของ Covid อยู่มาก จากผลสำรวจจะเห็นว่าคนไทยมีการใช้จ่ายสำหรับสินค้าประเภทต่าง ๆ น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และเวียดนาม สืบเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ Covid นั่นเอง

รูปที่ 6 ผลการศึกษาการบริโภคสินค้าและบริการเปรียบเทียบแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

4.ห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หลังการระบาดใหญ่ของ COVID-19

รูปที่ 7 การระบาดของ Covid ส่งผลให้ประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่ 3 กลุ่มธุรกิจ

 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ผู้ประกอบการพยายามลดความซับซ้อนและลดระยะทางของแหล่งผลิตให้ใกล้กับประเทศของตนเองมากขึ้น โดยกระจายฐานการผลิตไปในหลายประเทศที่ใกล้แหล่งผลิตมากขึ้นและอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลให้ห่วงโซ่มูลค่าโลกมีแนวโน้มสั้นลง กระจายตัวมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค (Shorter, more diversified and more regionalized) จากการคาดการณ์ ลักษณะของห่วงโซ่มูลค่าโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2568) ประเมินว่าอุตสาหกรรมของไทย จะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกมากขึ้น จากขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ การแพร่ระบาดในครั้งนี้ทำให้กระบวนทัศน์จากภาครัฐของประเทศไทยมุ่งเน้นไปในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต ทั้ง Digital Business, Medical Hub และ Smart Logistics

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เร่งผลักดันตามแผนนโยบายภาครัฐ จะหนุนโอกาสการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega projects) ของภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย โครงการเขตพัฒนาเศรษฐิกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors: EEC) พื้นที่ยุทธศาสตร์หลักที่การลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการกำลังจะเริ่มก่อสร้างขึ้น เพื่อหนุนประเทศไทยให้เป็น Smart Logistics Hub ในการขนส่งของอาเซียน จะเหนี่ยวนำให้เกิดการการค้าการลงทุนทั้งภาคการผลิต เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และการแพทย์ รวมถึงภาค เศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก E-Commerce และก่อสร้าง อีกด้วย

Digital Business กำลังเข้ามาพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งนอกจากจะเน้นการแข่งขันด้านการผลิต ตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของโลก (Global megatrend) ที่กำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เต็มรูปแบบแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังหันมาเน้นความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตหลังได้รับผลกระทบของ COVID-19 โดยเทคโนโลยีหลักที่จะเข้ามามี บทบาทต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เช่น

  • 5G technology: ระบบบริการบรอดแบนด์ 5G ซึ่งมีกำลังรับส่งข้อมูลมากกว่าระบบ 4G ถึง 100 เท่า จะหนุนให้เกิดการปฏิรูป กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผ่านระบบข้อมูล Big data เพื่อปรับระดับสต๊อกของ ผลผลิตและวัตถุดิบให้สมดุลได้โดยอัตโนมัติ
  • The Internet of Things (IoT): IoT devices กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมโยงข้อมูลของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันผ่านระบบ Sensors ที่ฝังตัวในทุกสิ่ง เช่น การติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย (Heart monitor transplant) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging) ที่สามารถตรวจสอบสถานะแหล่งผลิตและการขนส่งได้ (Track and Trace Shipments) ฉลากอัจฉริยะ (Smart Label) ที่สามารถตรวจสอบอาหารหมดอายุได้ การตรวจอาการสัตว์ในฟาร์ม (Biochip transponder) เซนเซอร์วัดอุณหภูมิในโรงเรือน/เพาะชำ/เพาะเลี้ยง เป็นต้น ซึ่งจะเร่งให้ เกิดการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบข้อมูล และการปรับตัวในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ใน เกือบทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ยานยนต์ อาหาร เสื้อผ้า เวชภัณฑ์เป็นต้น
  • Drone: อากาศยานไร้คนขับที่ควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดกับเทคโนโลยีอื่นมากขึ้น เช่น เซนเซอร์ ระบบดาวเทียม IoT และ AI ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งการลดการใช้แรงงาน ลดเวลาในการเข้าสำรวจพื้นที่จริงหรือใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการประเมินจากภาพที่เห็นเบื้องต้น
  • Artificial intelligence (AI): การใช้ปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เช่น Cloud และ IoT เพื่อประมวลผล Big data สำหรับการพัฒนาระบบจดจำและตัดสินใจในธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ ศูนย์บริการ Call- center ภาคการผลิตและบริการที่ขาดแคลนแรงงาน การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot)
  • Blockchain: ระบบการเก็บและบันทึกข้อมูลแบบกระจายฐานข้อมูล (Distributed ledger technology) แทนการรวมศูนย์ ซึ่งเปิดโอกาส ให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลกันได้ แต่จำกัดการเข้าถึงด้วยการเข้ารหัส จึงมีความปลอดภัยสูง สร้างโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (Peer-to-peer) โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินผ่านการใช้เงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนการจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง เช่นฐานข้อมูลแผนที่พันธุกรรมทางการแพทย์ หรือการยืนยันตัวตนผ่านชีวมิติ การตรวจสอบการซื้อขายและกระบวนย้อนกลับในสินค้าเกษตรที่สร้างความสมมาตรของข้อมูล (Systematic information) ในห่วงโซ่อุปทานที่มีผลให้ต้นทุนสินค้าเกษตรลดลง เป็นต้น
  • 3D printing: เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ควบคุมการออกแบบและผลิตสินค้าด้วยระบบดิจิทัลที่มีต้นทุนต่ำและมีความรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีลักษณะปัจเจกชนนิยม (Individualization) มากขึ้น เทคโนโลยีดังกล่าวอาจ เข้ามามีบทบาทในการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการนำวัสดุกลับมาใช้เป็นวัสดุในการพิมพ์ใหม่อีกครั้ง (Recycle bot) อาทิ แฟชั่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือ/อุปกรณ์และอะไหล่ และการพิมพ์เนื้อเยื่อขนาดเล็ก อวัยวะเทียม

Medical Hub จากนโยบายของรัฐบาลที่เร่งผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของนานาชาติหรือเมดิคัลฮับ ซึ่งเสริมศักยภาพบริการทางการแพทย์ไทยนับว่าเป็นเป้าหมายในระดับประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ จากกการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีสถานพยาบาลเอกชนของไทยจำนวนมากได้ปรับตัว เพื่อให้บริการและเจาะตลาดคนไข้ชาวต่างชาติมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานระดับโลก มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น การศัลยกรรมตกแต่ง การรักษาด้วยเทคโนโลยีระดับสูง การรักษาด้วย Stem cell เป็นต้น กอปรกับการบริการที่ดีเยี่ยมแบบคนไทย กับค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ถูกกว่าประเทศอื่น จึงเป็นจุดเด่นที่ประเทศไทยจะต้องรักษาเอาไว้เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการแข่งขันของธุรกิจ ในอนาคต “เมดิคัลฮับ” ไม่เพียงแต่สร้างรายได้เข้าประเทศซึ่งเป็นหัวใจหลักเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการแพทย์ที่จะมีนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น คนไทยจะได้รับประโยชน์มากที่สุดด้วยและเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย
จากแนวนโยบายการผลักดันของภาครัฐทั้ง 3 ปัจจัยนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจการค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ต้องวิเคราะห์และหาช่องทางในการเชื่อมโยงเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในธุรกิจให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต

 

5.สถานการณ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ไทย

สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์นั้น ต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมระหว่างสภาวการณ์แพร่ระบาดของ Covid โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภท หนังสือพิมพ์และนิตยสารนั้นได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้จาก Digital Disruption พฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนเปลี่ยนไปอ่านจาก Digital Media ที่มีเนื้อหาสด ใหม่ ทันต่อเหตุการณ์ เนื่องจากใช้เวลาและต้นทุนในกระบวนการผลิตน้อยกว่า ทำให้งบประมาณในการโฆษณาของสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง และสินค้าต่าง ๆ หันไปลงโฆษณาในสื่อดิจิทัลมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารมีการปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก

รูปที่ 8 เปรียบเทียบยอดค่าโฆษณาในสื่อแต่ละประเภท ตั้งแต่ปี 2016-2021

สำหรับสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ ปัจจุบันภาพรวมตลาดหนังสือไทยไม่ได้เติบโตขึ้นมากนัก ขณะที่ภาพรวมตลาดหนังสือทั่วโลกอยู่ในสภาวะทรงตัว เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตจากภาวะ Covid ผู้บริโภคระมัดระวัง และลดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นลง ผู้ประกอบการจึงปรับตัวนำระบบดิจิทัลเข้ามาเป็นอีกหนึ่ง Platform ทางเลือก เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือ E-book เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการอ่านของผู้อ่านยุคใหม่ซึ่งเกิดมาในยุคดิจิทัล (Digital Native) คุ้นชินกับการอ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยสามารถเลือกซื้อหนังสือผ่านช่องทางการขาย Online ไม่ว่าจะเป็น ThaiBookFair.com, Ookbee.com, Mebmarket.com ในขณะเดียวกันการขายผ่านช่องทางตามหน้าร้านขายหนังสือ และการจัดงานหนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ
งานหนังสือส่วนภูมิภาค ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่เพราะยังมีผู้อ่านอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังชอบอ่านหนังสือเล่มที่จับต้องได้มาเลือกซื้อหนังสือ ดูนิทรรศการ รวมถึงพบปะพูดคุยกับนักเขียนที่ตนเองชื่นชอบ สิ่งนี้นับว่าเป็นสิ่งท้าทายที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน เร่งผลักดันนโยบายสังคมแห่งการเรียนรู้ รณรงค์การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาประเทศ

รูปที่ 9 กราฟเปรียบเทียบผลผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมระหว่างช่วงการแพร่ระบาด Covid

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ได้ปรับตัวไปสู่ platform การสื่อสารออนไลน์กับลูกค้ามากขึ้น โดยเราจะเห็นการโพสต์ขายสินค้าบริการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ผ่าน Social Media เช่น Facebook Instagram อีกทั้งมีการปรับรูปแบบ Website เพื่อนำเสนอการขายไปยังผู้ซื้อในรูปแบบใหม่ผ่านระบบ E-Commerce เพิ่มมากขึ้น การพัฒนารูปแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า เช่น บรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป Food Delivery แบบ Single Use ที่มียอดการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่องบรรจุภัณฑ์เวชภัณฑ์ก็มียอดเติบโตตามการใช้งานในช่วงนี้ เช่นกล่องใส่ Face Mask กล่องใส่ถุงมือยาง กล่องบรรจุวัคซีน ดังนั้นแม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของ Covid อยู่บ้าง แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ทั้งระบบ ก็ปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังภาพประกอบ

 

6.อนาคตอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย

ในขณะที่มีการแพร่ระบาดของ Covid สิ่งพิมพ์บางประเภทกลับได้รับอานิสงค์มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเช่น ฉลาก บรรจุภัณฑ์อาหาร และกล่องลูกฟูก เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดในประเทศที่มียอดการบริโภคสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์แบบ Delivery เพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกอาหารสำเร็จรูปที่สำคัญ จึงมีประเทศที่สถานการณ์ Covid-19 ยังระบาดรุนแรง สั่งซื้ออาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้ตลาดการพิมพ์ด้านบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

รูปที่ 10 แนวโน้มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยในอนาคต

โดยแนวโน้มประเภทของสิ่งพิมพ์ที่จะมีการเติบโตต่อไปในอนาคตจะเป็นสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษลูกฟูก บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป Flexible Packaging ฉลากสินค้า Label ต่าง ๆ ดังกราฟในภาพ สำหรับรูปแบบระบบการพิมพ์ในประเทศไทย ระบบ Sheetfed Offset และ Web Offset ยังได้รับความนิยมโดยยังครองส่วนแบ่งการใช้งานสูงสุด เนื่องจากเมื่อพิจารณาในแง่ของ Economy of scale แล้วถ้าผลิตในจำนวนมากจะมีต้นทุนที่ประหยัดกว่าระบบอื่น แต่ในขณะเดียวกันระบบการพิมพ์ดิจิตอลทั้ง Inkjet และ Electrophograhy Toner ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ และสามารถพิมพ์ข้อมูลแปรผันได้ (Customize and Personalize Data Printing) ก็มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน

 

7.บทสรุป

ในอนาคตอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล คนเหล่านี้ย่อมมีพฤติกรรมการใช้ชีวิต การอ่าน การบริโภค การซื้อสิ่งของเปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นเดิม การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) ของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ทำให้รูปแบบของวัสดุการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต้องเปลี่ยนแปลงไป

Smithers’ latest leading industry report, The Future of Print to 2030 รูปที่ 11 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสิ่งพิมพ์ในอนาคต

แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นนอกเหนือความควบคุมและไม่คาดคิดมาก่อน อาจมีการกลายพันธ์และเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ ในอนาคตประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยอาศัยปัจจัยการผลิตภายในประเทศ Local Economy ทั้งระบบ จะสามารถยืนหยัดท่ามกลางการเผชิญหน้ากับภาวะความไม่แน่นอนในอนาคตได้ ต่อจากนี้ทิศทางของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การคำนึงถึง Customer Centric การผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ของตลาดให้ทันความต้องการ การเพิ่มช่องทางการขายผ่านระบบ E-Commerce ที่จะไม่ได้ค้าขายแค่ผู้ซื้อที่อยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องสามารถซื้อขายได้กับคนทั่วโลก การนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ระบบ Automation Industry 4.0 มาใช้ในธุรกิจมากขึ้น เช่น Digital Printing, Smart Packaging, Smart Logistics รวมถึงการบูรณาการกับ Digital Transformation Platform การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบการทำงานภายในองค์กรให้มีความคล่องตัว ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาความร่วมมือกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกฝ่าย ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจ Cluster ต่าง ๆ ให้มากที่สุดเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค ดิจิทัล ที่จะเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตและการบริโภคจากรูปแบบเดิม ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

Smithers’ latest leading industry report, The Future of Print to 2030
รูปที่ 12 แรงขับเคลื่อนที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในอนาคต

ท่ามกลางวิกฤตจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยยังคงปรับตัว และดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็ง ด้วยความร่วมมือจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลิตทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า ด้วยนวัตกรรมทางการศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้ประกอบการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างสรรค์ให้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ยังคงดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า