กล่องกระดาษ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กล่องกระดาษ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กล่องกระดาษมีจุดเด่นตรงความคงรูป วางบนชั้นวางขายได้ดี มีหลากหลายรูปแบบในรูปทรงต่าง ๆ ให้เลือกใช้พิมพ์และตกแต่งได้สวยงาม อีกทั้งสามารถรีไซเคิลได้

โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก

เป็นที่ยอมรับว่ากล่องกระดาษมีจุดเด่นตรงความคงรูป วางบนชั้นวางขายได้ดี มีหลากหลายรูปแบบในรูปทรงต่าง ๆ ให้เลือกใช้ พิมพ์และตกแต่งได้สวยงาม อีกทั้งสามารถรีไซเคิลได้ อย่างไรก็ตาม กล่องกระดาษก็มีจุดด้อย คือ ดูดความชื้นได้ง่าย ทำให้สูญเสียความแข็งแรง อีกทั้งป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำและก๊าซไม่ได้ จึงใช้บรรจุอาหารหรือของเหลวไม่ได้ ยกเว้นนำกระดาษไปเคลือบกับพลาสติกหรือสารเคลือบเฉพาะ การเคลือบกระดาษกับพลาสติกส่งผลให้กระดาษนั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากต้องลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่สามารถแยกพลาสติกออกได้

บทความนี้เน้นกล่องกระดาษสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อการขายปลีกเท่านั้น ไม่รวมกล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้เพื่อการขนส่ง

ในกรณีที่ใช้กล่องบรรจุอาหารโดยตรง กระดาษมีการสัมผัสอาหาร ที่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ผลิตกล่องต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะใช้กระดาษชนิดใด จะเคลือบหรือไม่เคลือบก็ตาม ต้องผ่านข้อกำหนดในมาตรฐาน มอก.2948 - พ.ศ.2562 ซึ่งจะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับในเร็ว ๆ  นี้ นั่นหมายความว่ากระดาษสัมผัสอาหารที่ใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าผลิตในประเทศหรือนำเข้า ต้องผ่าน มอก. นี้ มิเช่นนั้นจะผิดกฎหมาย

หากกล่องใช้กับอาหารที่ส่งออก ต้องยึดถือมาตรฐานของประเทศที่ขายเป็นหลัก เช่น ขายในสหภาพยุโรป ต้องผ่านข้อกำหนดตาม EU Directive 10/2011 ซึ่ง ครอบคลุมการตรวจสอบสารที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่อาหารและก่ออันตรายกับสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง สารที่ก่อความวิตกกังวลสูงในปัจจุบัน ได้แก่

– Mineral Oil Saturated Hydrocarbon (MOSH) ที่ตกค้างในเยื่อเศษกระดาษ มักพบในกระดาษคราฟท์ (มีส่วนผสมของเยื่อเศษกระดาษ) ที่ใช้ทำกล่องบรรจุอาหารแบบ food delivery ดังรูป

– PFAS (Polyfluoroalkyl Substance) ซึ่งนิยมใช้เคลือบกระดาษเพื่อกันน้ำและกันไขมัน เป็นสารที่มีความเสถียรมาก ไม่ย่อยสลายและตกค้างในสิ่งแวดล้อม จนได้สมญาว่า สารเคมีชั่วนิรันดร์ (Forever Chemicals) สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะสะสมในร่างกาย เป็นต้นเหตุของหลายโรค เช่น มะเร็ง โรคตับ ภูมิแพ้ เป็นต้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้สหภาพยุโรปได้รายงานว่าตรวจพบ PFAS ในปริมาณสูงกว่ามาตรฐาน ในถาด/ถ้วย/หลอดดูดที่ทำด้วยกระดาษ (ดังรูป) จึงได้เข้มงวดในการควบคุมคุณภาพมากขึ้น หลายเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายห้ามการใช้สารนี้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ผลิตจำนวนมากยังใช้สารนี้อยู่ รวมทั้งผู้ผลิตกล่องและผู้นำเข้ากล่องที่ใช้บรรจุอาหารในประเทศไทย จึงนับเป็นภัยร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้าม

เพื่อความมั่นใจว่ากระดาษที่ใช้มีความปลอดภัยในการสัมผัสอาหาร ผู้ผลิตกล่องควรนำกระดาษที่ใช้ (ถ้ามีการเคลือบผิว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องเป็นกระดาษที่เคลือบแล้ว) ไปวิเคราะห์ตามข้อกำหนดใน มอก.2948-2562 จากนั้นจึงพัฒนาในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางต่อไปนี้

แนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  • เลือกใช้วัสดุที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
  • ลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่ลดคุณภาพ
  • ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ
  • ใช้พลาสติกที่ผลิตจากพืช
  • เลือกใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้
  • ใช้วัสดุที่ได้มาจากการรีไซเคิล
  • มีระบบการจัดการขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
  • มีการให้ความรู้และรณรงค์ให้ผู้บริโภคเข้าใจและแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง

แนวทางการพัฒนากล่องกระดาษเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1. แหล่งของเยื่อกระดาษ

เลือกใช้กระดาษที่เยื่อผลิตมาจากแหล่งที่ไม่ทำลายป่า ไม่ก่อปัญหาต่อระบบนิเวศน์ และชีวิตสัตว์ป่า ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสากลในด้านนี้ สังเกตได้จากสัญลักษณ์และเลขทะเบียนกำกับ ดังรูป

FSC stands for Forest Stewardship Council FSC standards developed to protect the forests’ biodiversity and ecological processes. FSC certified product means the soil and wildlife habitat has been protected, also considers that forestry operations be cost effective while not compromising the environmental health of the forest.
PEFC is the world’s leading forest certification organization. An international non-profit, non-governmental organization dedicated to promoting sustainable forest management

2. ชนิดของกระดาษแข็ง

แนะนำให้ใช้ชนิดกระดาษที่มีส่วนผสมของเยื่อเศษกระดาษ อันจะช่วยลดการใช้เยื่อบริสุทธ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คาร์บอน) มีข้อมูลจากการศึกษาว่า “การใช้เยื่อเศษกระดาษ 1 กก. จะลดคาร์บอนได้ 0.57 กก.”

กระดาษแข็งที่นิยมใช้ทำกล่อง ได้แก่ กระดาษดูเพล็กซ์ชนิดเคลือบ (Coated Duplex Board) ที่มักเรียกว่า “กระดาษขาวเทา” มีส่วนผสมของเยื่อเศษกระดาษมากถึง 70-75% ในขณะที่กระดาษอาร์ตการ์ด (Art Card) ทำมาจากเยื่อบริสุทธิ์ล้วนที่ไม่มีเยื่อเศษกระดาษเลย ดังนั้นในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรใช้กระดาษขาวเทา ผิวนอกมีสีขาวเรียบสามารถพิมพ์และตบแต่งหลังพิมพ์ให้สวยงามได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษอาร์ตการ์ด ดังตัวอย่างรูปที่ใช้กระดาษขาวเทากับกล่องสินค้าระดับปานกลางและระดับพรีเมี่ยมโดยไม่มีผลต่อการยอมรับของผู้บริโภค

3. รูปแบบกล่อง

รูปแบบกล่องมาตรฐานมีมากมาย แต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดในการใช้ต่างกัน แบบที่นิยมใช้ เช่น

แบบกล่องที่แนะนำสำหรับอาหาร (แม้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ) คือ กล่องแบบฝาติดกาวทั้งฝาบนและฝาล่าง เพื่อสามารถทิ้งร่องรอยให้เห็นเมื่อถูกเปิด (Tamper Evidence) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในความสะอาดของโรงงานผลิตว่าได้ป้องกันสิ่งแปลกปลอมลงไปในกล่อง อันจะช่วยส่งเสริมตราสินค้าได้ทางหนึ่ง กล่องแบบนี้ควรมีการทำรอยปรุที่ฝา ควบคุมปริมาณกาวที่ใช้และตำแหน่งการทากาวให้เหมาะสม เพื่อให้ฝากล่องฉีกเปิดได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ

แบบของกล่องที่ไม่แนะนำสำหรับอาหาร ได้แก่ กล่องฝาด้านล่างเป็นฝาแบบล็อก ส่วนฝาด้านบนเป็นแบบเสียบหรือแบบติดกาว ฝาด้านล่างถูกแย้มเปิดและปิดใหม่ได้ โดยไม่ทิ้งร่องรอยให้เห็น จึงอาจถูกใส่สิ่งปลอมลงไปในกล่องโดยผู้ประสงค์ร้าย ทำให้เสียชื่อเสียง ผู้ผลิตสินค้าบางรายแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ฟิล์มหดหุ้มกล่อง แม้ว่าจะป้องกันการขโมยเปิดได้ แต่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านวัสดุ แรงงาน และพลังงานในการใช้ลมร้อนเป่าให้ฟิล์มหดตัว จึงไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กล่องแต่ละรูปแบบให้แผ่นคลี่ (Blank) ต่างกันซึ่งมีผลต่อพื้นที่กระดาษที่ใช้ กล่องที่แผ่นคลี่สามารถจัด layout ให้ชนกันพอดีบนแผ่นกระดาษขนาดมาตรฐานซึ่งมีขนาด 31×43 นิ้ว จะทำให้กระดาษเหลือเศษน้อย ช่วยประหยัดกระดาษ ลดการใช้วัสดุ และยังทำให้ราคากล่องลดลงอีกด้วย

แบบกล่องที่มีส่วนยื่นขึ้นมาด้านบนหรือด้านข้าง (ดังรูป) นอกจากทำให้ขึ้นรูปยากแล้ว ยังทำให้สิ้นเปลืองกระดาษและมีปัญหาในการวางซ้อนในกล่องขนส่ง รวมทั้งทำให้กล่องขนส่งมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย จึงไม่แนะนำ

4. ขนาดของกล่อง

ขนาดของกล่องควรเหมาะสมกับขนาดของสินค้าที่บรรจุ กล่องที่ใหญ่เกินไปทำให้มีช่องว่างในกล่องมากไป ส่งผลให้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 กระทบกระแทกกันในระหว่างการลำเลียงขนส่ง อาจเกิดการแตกหรือเสียรูปได้ อีกทั้งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากใช้กระดาษมากเกินความจำเป็น ส่วนกล่องที่มีขนาดเล็กเกินไปทำให้การบรรจุสินค้าลงในกล่องไม่สะดวก หรือหยิบออกจากกล่องลำบาก ตัวอย่างกล่องที่มีขนาดใหญ่เกินไป ดังรูป

5. ดัดแปลงกล่องเพื่อใช้ประโยชน์อื่น

แนวทางนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในขั้นตอนการออกแบบ โดยมีกติกาว่าไม่ก่อปัญหาต่อกระบวนการผลิต การขึ้นรูปและการบรรจุสินค้า อีกทั้งต้องง่ายต่อการดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างในรูป คือ กล่องบรรจุปลาสลิดทอดกรอบที่บรรจุในถุงสุญญากาศ เป็นกล่องพับได้ที่มีรูปร่างเป็นปลา พิมพ์และตบแต่งอย่างสวยงาม เมื่อใช้แล้วผู้บริโภคกดตามรอยปรุ ทิ้งส่วนบนไป กลายเป็นกล่องใส่เครื่องเขียน เช่น สมุด หนังสือไม้บรรทัด เป็นต้น

6. หมึกพิมพ์

แม้ว่าหมึกพิมพ์จะเป็นส่วนประกอบที่น้อยมากของกล่องกระดาษ แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน หมึกพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องไม่ปล่อยสารพิษสู่อากาศและแหล่งน้ำ และไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพแก่ช่างพิมพ์ โดยยึดตามข้อกำหนดของฉลากเขียวที่กำหนดว่าสาร volatile organic compound (VOC) ต้องไม่เกิน 1% หมึกพิมพ์จากน้ำมันพืช เช่น ถั่วเหลือง ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในด้านนี้ ให้ความปลอดภัยและไม่มีสารตกค้าง ในปัจจุบันมีการใช้หมึกประเภทนี้กับการพิมพ์ระบบออฟเซ็ทอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ผู้พิมพ์กล่องควรเลือกใช้หมึกจากน้ำมันถั่วเหลืองที่ได้รับการรับรองจากสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น American Soybean Association ดังรูป

7. การให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องแก่ผู้บริโภค

การพิมพ์สัญลักษณ์รีไซเคิลให้ชัดเจนที่กล่อง (หากใช้กระดาษที่ไม่มีการเคลือบพลาสติก) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ควรทำ นอกจากนี้ควรมีโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคแยกทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วตามชนิด เพื่อการรวบรวมสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป การพัฒนากล่องกระดาษให้ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำโดยผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง หากต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการทุกรายในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าเป็นผู้ผลิตกระดาษ กล่อง หมึกพิมพ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค

วารสารฉบับหน้าพบกับบทความเรื่อง “ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร: เลือกใช้ให้เป็น ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า