เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (3)

เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (3)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

จากที่ได้กล่าวมาถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก ที่สามารถใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่หลากหลายในการผลิตงานพิมพ์ การเลือกใช้เทคโนโลยีการพิมพ์จะขึ้นอยู่กับลักษณะงาน คุณภาพงานพิมพ์ จำนวนพิมพ์ และการทำลักษณะพิเศษต่าง ๆ เทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ได้มีการนำมาใช้ในการผลิตฉลาก รวมถึงการทำลักษณะพิเศษต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับฉลาก เช่น การทำตัวอักษรที่นูนขึ้นมา หรือการนำแม่พิมพ์เลตเตอร์เพรสส์มาประยุกต์ใช้ในการปั้มฟอล์ยสีทองหรือสีเงิน เป็นต้น

2. เทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์

เทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ ได้มีการนำมาใช้ในการผลิตงานพิมพ์มาไม่น้อยกว่า 100 ปี แม่พิมพ์ที่ใช้จะเป็นแม่พิมพ์พื้นนูนเช่นเดียวกันกับแม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟี ลักษณะของแม่พิมพ์ จะประกอบด้วยบริเวณภาพที่อยู่สูงกว่าบริเวณไร้ภาพ แม่พิมพ์จะสามารถทำจากโลหะและพอลิเมอร์ดังแสดงในรูปที่ 1 และ 2 ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หมึกพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ จะมีลักษณะข้นหนืดเหมือนหมึกพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ออฟเซต ดังนั้นลักษณะของหน่วยพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ จะประกอบด้วยชุดลูกหมึกตั้งแต่ 5 – 10 ลูกขึ้นอยู่กับขนาดของโมแม่พิมพ์ โดยชุดลูกหมึกมีหน้าที่ในการเกลี่ยหมึกและจ่ายหมึกพิมพ์ให้กับแม่พิมพ์

จากเทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ในปัจจุบัน ซึ่งใช้ระบบการทำแม่พิมพ์แบบคอมพิวเตอร์ทูเพลท (Computer to plate) ทำให้แม่พิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์มีคุณภาพที่สูงขึ้น แม่พิมพ์สามารถเก็บรายละเอียดในการพิมพ์ได้มากขึ้น ตัวอักษรที่สามารถพิมพ์ได้มีขนาดที่เล็กลง โดยคุณภาพของแม่พิมพ์จะสามารถสังเกตได้จากความละเอียดในการผลิตงานพิมพ์ แต่เดิมการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ จะสามารถผลิตงานพิมพ์ที่ความละเอียดสกรีนของภาพพิมพ์ไม่เกิน 60 เส้นต่อนิ้ว แต่ปัจจุบันสามารถผลิตงานพิมพ์ที่มีความละเอียดสกรีนของภาพพิมพ์ได้ถึง 150 เส้นต่อนิ้ว ซึ่งเป็นความละเอียดสกรีนที่เหมาะสำหรับการพิมพ์ฉลากคุณภาพสูง

เทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ จะมีหลักการถ่ายทอดภาพจากแม่พิมพ์ลงสู่วัสดุใช้พิมพ์ โดยใช้การจ่ายหมึกของลูกกลิ้งจ่ายหมึกให้กับแม่พิมพ์ที่ทำจากยางจำนวน 2-3 ลูก และลูกกลิ้งจ่ายหมึกและลูกกลิ้งเกลี่ยหมึกจำนวน 4-9 ลูก ดังแสดงในรูปที่ 3 ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบการจ่ายหมึกของเครื่องพิมพ์ เนื่องจากหมึกพิมพ์ที่ใช้จะมีลักษณะข้นหนืด จึงต้องมีลูกหมึกมาทำการบดหมึกพิมพ์ให้เกิดกระจายตัวเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ก่อนจ่ายให้กับแม่พิมพ์ การปรับตั้งแรงกดระหว่างลูกหมึกในระบบการจ่ายหมึก และแรงกดจากลูกหมึกจ่ายหมึกลงสู่แม่พิมพ์ จะมีการตั้งแรงกด หรือ ค่า Nip pressure เป็นระยะประมาณ 3 – 4 มิลลิเมตร หากมีการตั้งแรงกดไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้แม่พิมพ์เกิดความเสียหายได้

หมึกพิมพ์ที่ใช้ในเทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรส จะเป็นหมึกพิมพ์ข้นหนืด มีความหนืดสูง (High viscosity) โดยหมึกพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ จะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ หมึกพิมพ์ฐานน้ำมัน และหมึกพิมพ์ที่แห้งตัวด้วยแสงยูวี หมึกพิมพ์ทั้ง 2 ประเภท จะมีการใช้ในการพิมพ์งานบนวัสดุที่แตกต่างกันไป เช่น หมึกพิมพ์ฐานน้ำมัน สามารถใช้ในการพิมพ์ลงบนวัสดุประเภทกระดาษทั่วไป หรือสติกเกอร์กระดาษ เป็นต้น หมึกพิมพ์ที่แห้งตัวด้วยแสงยูวี ใช้ในการพิมพ์ลงบนสติกเกอร์พลาสติกประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำฉลาก เช่น สติกเกอร์ PP (Polypropylene sticker) สติกเกอร์ที่มีผิวฉาบโลหะ (Metalized sticker) เป็นต้น

ลักษณะของภาพพิมพ์ที่ได้จากเทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ หากพิจารณาจากตัวอักษร หรือเม็ดสกรีนที่พิมพ์บนวัสดุใช้พิมพ์ จะสามารถสังเกตุบริเวณขอบของตัวอักษร หรือเม็ดสกรีน ที่เข้มกว่าพื้นที่ด้านใน ซึ่งจะมีลักษณะภาพพิมพ์ที่ได้เหมือนกับภาพพิมพ์ที่ได้จากเทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี เนื่องจากทั้งสองเทคโนโลยีการพิมพ์ ได้มีการใช้แม่พิมพ์พื้นนูนเหมือนกัน ดังแสดงในรูปที่ 4

สำหรับการพิมพ์ฉลากด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ จะนิยมใช้เครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วน ที่มีส่วนพิมพ์เป็นแบบแนวนอน เทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ในปัจจุบันสามารถติดตั้งแม่พิมพ์พอลิเมอร์แบบแผ่นราบ หรือแม่พิมพ์พอลิเมอร์แบบแผ่นโค้งได้ โดยจะมีการออกแบบโครงสร้างหน่วยพิมพ์ที่แตกต่างกันไป เครื่องพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์พอลิเมอร์แบบแผ่นราบ อาจจะมีการออกแบบระบบการจ่ายหมึกพิมพ์ที่แตกต่างกันแล้วแต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ จะใช้ในการพิมพ์งานฉลากที่เน้นเฉพาะงานลายเส้น ตัวอักษร จะสามารถให้คุณภาพที่ดี ดังแสดงในรูปที่ 5

สำหรับเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์แบบป้อนม้วน เครื่องพิมพ์ที่นิยมใช้จะเป็นเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุใช้พิมพ์ที่มีขนาดหน้ากว้างของม้วนพิมพ์ประมาณ 15 – 17 นิ้ว หรือที่นิยมเรียกว่า เครื่องพิมพ์ป้อนม้วนแบบหน้าแคบ (Narrow web printing press) ดังแสดงในรูปที่ 8 โดยเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ในปัจจุบันจะเป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้หมึกพิมพ์ UV หรือ LED UV ในการผลิตงาน ทำให้เครื่องพิมพ์จะมีระบบการทำแห้งด้วยแสง UV หรือแสง LED UV ติดตั้งมา และสามารถใช้ในการพิมพ์งานบนวัสดุพิมพ์ได้ทุกประเภท

จากแนวโน้มการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการสิ่งพิมพ์ที่จำนวนสั่งพิมพ์แต่ละครั้งมีจำนวนน้อยลง ทำให้ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ได้มีการพัฒนาระบบการป้อนม้วนวัสดุพิมพ์ให้สามารถมีการดึงกลับเป็นจังหวะได้ในระหว่างการพิมพ์งาน โดยได้นำเข้าสู่อุตสาหกรรมการพิมพ์ในชื่อเรียกว่า เครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์แบบอินเตอร์มิทแทนด์ (letterpress intermittent printing press) หลักการทำงานของระบบการป้อนม้วนแบบ Intermittent คือ วัสดุใช้พิมพ์จะถูกติดตั้งตั้งแต่ส่วนป้อนม้วนไปยังส่วนเก็บม้วนท้ายเครื่อง ซึ่งมีการปรับตั้งแรงตึงของวัสดุใช้พิมพ์อย่างเหมาะสม ระบบการป้อนม้วนจะทำหน้าที่ในการดึงกระดาษไป-กลับระหว่างการพิมพ์งานในแต่ละหน่วยพิมพ์ ระยะการดึงกระดาษกลับจะมาจากการคำนวณจากความยาวของเส้นรอบวงของโมแม่พิมพ์ ทำให้ความเร็วในการพิมพ์งานจะถูกลดลง หากเปรียบเทียบกับระบบป้อนม้วนของเครื่องพิมพ์แบบทั่วไป จากระบบการป้อนกระดาษที่เปลี่ยนไปทำให้ขนาดของแม่พิมพ์ที่ใช้บนเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์แบบอินเตอร์มิทแทนด์มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เครื่องพิมพ์ป้อนม้วนโดยทั่วไป จะมีการติดตั้งแม่พิมพ์ในการพิมพ์งานแบบเต็มโมแม่พิมพ์ (Full rotary) ดังแสดงในรูปที่ 6ซึ่งใช้ในการพิมพ์งานตลอดความยาวของเส้นรอบวงของโมแม่พิมพ์ แต่เครื่องพิมพ์ที่มีระบบป้อนม้วนแบบ Intermittent จะใช้ขนาดของแม่พิมพ์ในการผลิตงานเพียงครึ่งเดียวจากขนาดพื้นที่พิมพ์ได้ ดังแสดงในรูปที่ 7 ทำให้ต้นทุนในการผลิตงานพิมพ์จะลดลง เหมาะสมกับการผลิตงานพิมพ์ที่ต้องใช้วัสดุพิมพ์ตั้งแต่ 300 – 1,500 เมตร

เครื่องพิมพ์ประเภทนี้จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทฉลากได้อย่างสมบูรณ์ อาทิเช่น มีการอุปกรณ์ปั้มเงิน – ทอง อุปกรณ์กลับกระดาษ (turn bar) เพื่อพิมพ์ด้านหน้าและหลังของฉลากได้ใน 1 เที่ยวพิมพ์ อุปกรณ์ปั้มตัด (die-cut) เป็นต้น อุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถทำให้ฉลากที่ผลิต สามารถส่งให้ลูกค้านำไปติดตั้งบนบรรจุภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้สามารถผลิตงานที่มีลักษณะพิเศษต่าง ๆ ได้ทั้งหมดใน 1 เที่ยวพิมพ์ ดังแสดงในรูปที่ 8

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า