สัมภาษณ์พิเศษ “คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สัมภาษณ์พิเศษ “คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล”
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ชี้ทางรอด อุตสาหกรรมปรับตัว – รัฐเปลี่ยนยุทธศาสตร์

สัมภาษณ์พิเศษ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในวิทยากรหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อโอกาสใหม่” ในงานสัมมนา “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 1 – 2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ โดยกระตุ้นเตือนรัฐบาลเร่งมือรับเทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พึ่งพายุทธศาสตร์ใหม่ ใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเป้าหมาย เศรษฐกิจบีซีจี และไคลเมท เชนจ์

• สะกิดรัฐเร่งปรับตัวรับความท้าทายโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เผชิญกับความท้าทายในหลายปัจจัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงเรื่องดุลอำนาจของโลกที่เปลี่ยนไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เราต้องเร่งปรับตัว รัฐบาลต้องเร่งรับมือเรื่องนี้ ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเฉพาะเทรนด์และดิจิทัลของโลก หรือดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมเคยแข็งแรง และทำยอดขายได้ดีมาเป็นเวลานานก็ถูกดิสรัปชั่น ทำให้ไม่สามารถดำรงธุรกิจต่อไปได้ภายในเวลาสั้น กระแสนี้เริ่มกระทบทีละอุตสาหกรรม แต่ท้ายที่สุดมันกำลังแผ่ไปทุก ๆ อุตสาหกรรม รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เรื่องระบบการซื้อขาย และระบบการใช้หรือการบริการ ไม่เหมือนเคยใช้ในอดีต

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ ส.อ.ท.ตระหนัก และให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดของแต่ละอุตสาหกรรม ที่ผ่านมามีอุตสาหกรรมรับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างจัง อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบ เป็นรายแรก ๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอ่านหนังสือน้อยลง หรือไม่เสพสื่อ แต่รูปแบบการเสพสื่อเปลี่ยนไป จากเดิมคนจะได้รับความรู้จากการอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปอ่านในระบบดิจิทัล ผ่านหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันพบว่ามีการเสพสื่อมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่เปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวกและง่ายขึ้น ที่สำคัญราคาถูกลง รวมไปถึงสามารถดูเป็นวิดีโอได้ และส่งผ่านคอมเมนต์ไปถึงผู้เขียนได้ด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ดังนั้นทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว

หากย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ หรือโทรทัศน์ มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันสื่อเคยเป็นสื่อหลักถูกทอนกำลังจากสื่อสมัยใหม่เข้าถึงง่าย สะดวก และทุกเวลา เพราะสมัยก่อนช่วงเวลาไพรม์ไทม์ หรือช่วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำ เป็นช่วงสำคัญที่สุด แต่ปัจจุบันไม่มีช่วงเวลานั้นแล้ว เนื่องจากย้อนกลับมาดูรายการ หรือละคร ได้ทุกเวลา สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกระดับ ทุกรูปแบบ และตอบสนองได้ทุกความต้องการ จึงเป็นผลให้ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เราจะต้องเร่งหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ นอกจากหนีการไล่ล่าของการถูกดิสรัปชั่น

• มุ่งพาประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลาง

ต้องยอมรับว่าโมเดลการเติบโตของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเติบโตในฐานะการเป็นฐานการผลิต การทรานส์ฟอร์มจากช่วง 40 – 50 ปีที่แล้ว ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์แบบไปสู่ภาคอุตสาหกรรม อาศัยแรงงานจากภาคการเกษตรที่มีช่วงเวลาว่างงาน เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม จนปัจจุบันไทยมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ตามสูตรการผลิตของลูกค้า หรือโออีเอ็ม ทำให้ไทยมีสินค้าน้อยมากในตลาดโลก ดังนั้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ของประชากร เศรษฐกิจไทยพัฒนามีรายได้สูงขึ้น ค่าแรงต่าง ๆ ก็ปรับราคาขึ้น จากเมื่อก่อนราคาถูก และมีแรงงานจำนวนมาก ตอนนี้กลับกันราคาค่าแรงสูง จำนวนแรงงานลดลง อัตราการเกิดของประชากรไทยก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สินค้าต่าง ๆ ผลิตในประเทศไทย เริ่มไม่ได้เปรียบเพราะต้นทุนเริ่มสูง จึงทำให้เม็ดเงินส่วนนี้เริ่มไหลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เปิดประเทศตามหลังไทย แต่มีคุณสมบัติเหมือนไทยช่วง 40 – 50 ปีที่แล้ว

รวมถึงเรื่องการทำความตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ หรือเอฟทีเอ ไทยยังมีการทำข้อตกลงน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อให้หลุดจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หากดูจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ย้อนหลังไป 10 ปี จะเห็นได้ว่าอยู่ที่ประมาณ 3% หากเราจะเติบโตด้วยโมเดลเดิม ๆ เช่นนี้ กว่าเราจะหลุดออกจากการเป็นประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่รายได้สูง อาจจะต้องใช้เวลากว่า 30 – 40 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้น ทางเดียวจะไปสู่จุดนั้นได้เร็ว ต้องเปลี่ยนโมเดลและยุทธศาสตร์ประเทศใหม่ ไม่เช่นนั้นประเทศเพื่อนบ้านอาจจะแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่นได้

• หนุนบีซีจีเพิ่มรายได้ไทย 4.4 ล้านล้านใน 5 ปี

ขณะที่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน หรือบีซีจี เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าว่าส่วนนี้จะเข้ามาเพิ่มจีดีพีให้เป็น 24% หรือช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 4.4 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทางออกของประเทศในยุคต่อไป ส่วนอีกเรื่องไทยต้องเผชิญ คือ เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะคนวัยทำงานและอัตราการเกิดใหม่ลดลง ไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเหมือนประเทศอื่น คือ ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากเดิมใช้แรงงานเป็นหลัก ในโลกปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีและสมอง เป็นงานที่นวัตกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเองพยายามขับเคลื่อนโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) เคลือบด้วยนวัตกรรม จากเดิมมี 10 อุตสาหกรรม แต่ภายหลังมีการเติมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่อีก 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษา ช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) หรือโควิด – 19 เอสเคิร์ฟเริ่มเกิดขึ้นจริง ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ เราต้องมุ่งมั่น และต้องไปในทิศทางนี้ให้ดี

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไคลเมท เชนจ์ (Climate Change) เรื่องนี้มาแน่ เพราะในปัจจุบันยุโรปเริ่มตื่นตัวแล้ว จากผลการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564 หรือ COP26 ผู้นำหลายประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์ และแสดงความุ่งมั่น จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล เพื่อหันไปใช้พลังงานสะอาดทดแทน จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เปลี่ยนแปลง 0.5 องศาเซลเซียส หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นเรื่องท้าทายโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศบนเวที COP26 ว่าในปี 2030 ไทยจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 40% ส่วนปี 2050 เราจะเป็นความเป็นกลางของคาร์บอน และในปี 2065 เราจะเป็นประเทศ ซีโร่ คาร์บอน เป็นสิ่งท้าทายมาก แต่ต้องทำ เพราะไทยเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออก ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกจำเป็นต้องปรับระบบการผลิตใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการกักเก็บคาร์บอน เป็นสิ่งที่หนีไม่ได้ แม้แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ท้ายสุดก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะมีผลกับซัพพลายเชนต้องส่งออกเป็นส่วนหนึ่งของการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อเราอยู่ในสังคมโลกเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม

• เดินหน้าผลักดันนโยบาย One FTI

จากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ประกาศชัดถึงนโยบาย One FTI เป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 1.4 หมื่นบริษัทของสมาชิก ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ จนถึงธุรกิจเอสเอ็มอี เราจะต้องหลอมรวมกับจังหวัดเป็น

Area Based ทั้ง 76 จังหวัด เราจะทำงานแบบใหม่ ทุกอุตสาหกรรมต้องร่วมกันทำ ภายใต้สโลแกน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม ก็ต้องตรงกับคอนเซ็ปต์ ผมจะขึ้นไปพูดถึงประเด็นดังกล่าวในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์มติชน ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงบทบาทการเป็นเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในช่วงโควิด เทรดวอร์ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักทั้งหมด เมื่อปี 2563 การส่งออกลดลง และจีดีพีไทย ติดลบถึง 6.1% ในปี 2564 จากแรงสนับสนุนของสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ภาคการส่งออกเติบโต 17% และช่วยให้จีดีพีพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 1.6% และเชื่อว่าในปี 2565 เครื่องยนต์นี้ก็จะทำงานต่อไป เพราะฉะนั้น การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องต้องทำ เพื่อหนีจากกระแสไล่ล่าตามทิศทาง

ส.อ.ท.จึงได้ประกาศยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือ 45 อุตสาหกรรมดั้งเดิม 11 คลัสเตอร์ 76 จังหวัด โจทย์คือทำอย่างไรให้กลุ่มนี้อยู่ในหมวดของการอยู่รอด รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายลดลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าถึงดิจิทัล และส่งออกได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้กลุ่มนี้สามารถอยู่รอดได้ แต่จะอยู่รอดได้นานเท่าไหร่สิ่งเหล่านี้เป็นการซื้อเวลาเท่านั้น เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แต่อุตสาหกรรมอีกฟากหนึ่งเรากำลังมองคือ อุตสาหกรรมความหวัง หรืออุตสาหกรรมอนาคต สิ่งเหล่านี้จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในวาระปี 2565 – 2567

• หนุนภาคเกษตรสร้างรายได้เพิ่มทั้งวงจร

นอกจากนี้ เราเร่งสร้างเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industrial:SAI) ส.อ.ท.จะมุ่งทำโมเดลนี้ให้ขยายผลทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต้องร่วมมือกันผลักดันเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้สามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมนี้ต่อไป แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกสูง อาจเป็นตัวเลขหลอกเรา เพราะเมื่อมาดูมูลค่าที่ไทยได้ส่วนใหญ่มาจากค่าแรง แต่ได้จากการส่งออกเพียงนิดเดียวเท่านั้น หากเรามีการส่งออกสินค้าประเภทไบโอในอนาคตไทยอาจได้รับรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงวิกฤตโควิด – 19 และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของไทยเด่น ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นครัวของโลกจริง แต่ทำอย่างไรให้มันยั่งยืน เพิ่มมูลค่า และตรงต่อความต้องการของตลาดโลก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งสิ้น เราหวังว่าวันหนึ่งไทยจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเกษตรของบ้านเรา จากเดิมอะไรเป็นที่นิยมก็แห่ไปปลูก อาทิ ทุเรียน โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีการโค่นสวนยางพาราเพื่อปลูกทุเรียน เพราะสามารถส่งออกได้กว่า 1 แสนล้าน แต่ประเทศหลักที่มีการส่งออกกว่า 90% ส่งไปที่จีน ข้อกังวลคือ หากประเทศต้นทางอย่างจีนไม่รับซื้อ ทุกรายที่หันมาปลูกก็เจ๊งหมด ดังนั้นจากนี้ไปทุกฝ่ายต้องพูดคุยกันว่าต่อไปจะปลูกอะไรบ้าง ปริมาณขนาดไหน ความต้องการของตลาดโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมมีเท่าไหร่ เพื่อให้มีดีมานด์เพียงพอกับความต้องการ และลดภาระให้กับรัฐบาลในการประกันราคาสินค้าอีกด้วย

หวังว่าเมื่อมีการปรับเปลี่ยนตามโมเดลนี้แล้วจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงจะช่วยให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือลูกหลานเกษตรกร เมื่อเรียนจบแล้วจะได้มีธุรกิจกลับไปต่อยอดในรูปแบบเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าโมเดลที่ ส.อ.ท.ต้องการผลักดันไม่ใช่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง แต่ SAI จะเป็นการผสมผสานระหว่างภาคเกษตร กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจรและอัจฉริยะ จะทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่กลับเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ และวันหนึ่งจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยได้ต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า