เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (1)

เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (1)

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ฉลาก (labels) สามารถผลิตได้จากวัสดุหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า และความเหมาะสมในการใช้งาน เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากจะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เพียง 1 ระบบ หรือหลายระบบในการผลิต ทำให้ฉลากที่ผลิตได้มีความหลากหลายและส่งเสริมให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถเพิ่มการป้องกันการปลอมแปลงให้กับสินค้านั้น ๆ

หน้าที่และส่วนประกอบของฉลาก

ฉลาก สามารถออกแบบและผลิตจากวัสดุได้หลายชนิด เช่น กระดาษ พลาสติก ผ้า โลหะ หรือวัสดุอื่น ๆ โดยนำมาปิดผนึกกับภาชนะบรรจุและเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ โดยมีหน้าที่สําคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูล รายละเอียดเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด และช่วยในการส่งเสริมการขาย มีการใช้ฉลากในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย โดยมีการกำหนดตําแหน่งและการออกแบบที่สวยงาม รวมไปถึงวัสดุและการใช้เทคโนโลยีทางการพิมพ์ จะทําให้การใช้ฉลากเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ฉลากจึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ชี้แจงข้อมูล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักผลิตภัณฑ์ สรรพคุณ วิธีการใช้ และแม้กระทั่งรู้จักผู้ผลิต

ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีบรรจุภัณฑ์ต้องปรากฏข้อมูลต่อไปนี้บนบรรจุภัณฑ์ด้วยทุกครั้ง ดังแสดงในรูปที่ 1 โดยข้อมูลจะประกอบด้วย

  1. ชื่อตรายี่ห้อของผลิตภัณฑ์
  2. ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์
  3. วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์
  4. ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์
  5. ชื่อผู้ผลิต
  6. วัน เดือน ปีที่ผลิต / วันหมดอายุ

ประเภทของฉลาก

  1. ฉลากที่ติดด้วยกาว (Glue-on label)
    ฉลากประเภทนี้นิยมพิมพ์บนกระดาษ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต หลังจากพิมพ์เสร็จแล้วในรูปแบบม้วน หรือแผ่น จะถูกนำไปติดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยเครื่องติดฉลากด้วยกาว ฉลากประเภทนี้นิยมใช้การอย่างแพร่หลายสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารกระป๋อง ไวน์ เบียร์ เป็นต้น ดังแสดงในรูปที่ 2
  2. ฉลากที่ติดด้วยตนเอง (Self-adhesive)
    ฉลากประเภทนี้จะนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สติกเกอร์” โดยผิวหน้าของฉลากจะสามารถทำมาจากวัสดุได้หลายชนิด เช่น กระดาษ พลาสติก หรืออลูมิเนียมฟอยล์เคลือบบนกระดาษหรือพลาสติก ดังแสดงในรูปที่ 3 โดยจะต้องมีการปรับผิวหน้าเพื่อให้เหมาะสมกับหมึกพิมพ์ที่ใช้สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบต่าง ๆ
  3. ฉลากหดรัด (Sleeve labels หรือ Shrink film)
    ฉลากหรือฟิล์มประเภทนี้จะหดตัวเมื่อได้รับความร้อน การใช้งานฉลากหรือฟิล์มประเภทนี้ จะทำโดยการนำฟิล์มดังกล่าวมาทำเป็นท่อ แล้วสวมครอบบรรจุภัณฑ์อย่างหลวม ๆ หลังจากนั้นนำบรรจุภัณฑ์ไปผ่านลมร้อน ที่มาจากเครื่องเป่าลมร้อนแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับขนาดของสินค้าและความเร็วที่ต้องการ เป็นผลให้ฟิล์มหดตัวและรัดแน่นกับสินค้าที่สวมอยู่

คุณสมบัติที่โดดเด่นของฉลากฟิล์มหดนั้นคือ สามารถหดรัดได้เข้ากับทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็น โลหะ แก้ว พลาสติก ซึ่งจะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่น และดึงดูดการซื้อสินค้า รวมถึงสามารถพิมพ์รูปภาพ ข้อความ และสามารถใช้สีสันได้ตามความต้องการ ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ทำฉลากสินค้า (Shrink labels), ฟิล์มหดหุ้มสินค้า (Shrink film for packaging) หรือฟิล์มหดหุ้มฝาขวด (Cap seal) เป็นต้น สามารถผลิตจากฟิล์มได้หลายประเภทด้วยกัน ดังนี้

  1. ฟิล์มหด PVC เป็นฟิล์มหดที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากมีความใส ความทนทานสูง น้ำหนักเบาและต้นทุนต่ำ ข้อเสีย คือ จะมีกลิ่นค่อนข้างแรงในกระบวนการนำไปใช้งาน
  2.  ฟิล์มหดพีโอเอฟ (POF) มีลักษณะนิ่ม บาง ใส ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทานและใช้งานได้หลากหลาย จึงมีความทนทานและคมชัดกว่าฟิล์มหดชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ POF ยังผลิตวัสดุที่รีไซเคิลได้ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
    2.1 POF Shrink Regular ที่ใช้สำหรับห่อสินค้าทั่วไป ไม่เน้นสมบัติพิเศษของฟิล์มและต้องการลดต้นทุน เช่น สมุด หนังสือ นิตยสาร เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เครื่องใช้ในสำนักงานประเภทบรรจุกล่อง กล่องโทรศัพท์มือถือและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุถ้วย เป็นต้น
    2.2 POF Shrink Cross-Linked ที่ใช้สำหรับห่อสินค้าที่ต้องการความแข็งแรงของฟิล์ม มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เช่น อาหารแช่งแข็ง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และล้อแม็กซ์รถยนต์ เป็นต้น
  3. ฟิล์มหด PE มีคุณสมบัติที่โดดเด่นตรงที่เมื่อมีการหดตัวแล้วเนื้อฟิล์มจะเหนียว ทำให้เหมาะกับการนำไปห่อหุ้มสินค้าที่มีน้ำหนัก เช่น น้ำดื่ม น้ำผลไม้ อาหารกระป๋อง น้ำอัดลม หรือแม้แต่ ไม้ฝา ไม้ระแนงต่าง ๆ
  4. ฟิล์มหด PETG มีคุณสมบัติหดตัวสูง มีความเหนียวและทนทาน สามารถหดรัดรูปได้แนบสนิทกับผลิตภัณฑ์ เช่น ขวดที่มีรูปทรงค่อนข้างโค้งเว้า, ขวดรูปทรงลักษณะพิเศษ และสามารถทำฉลากได้ทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวเรียบ หรือขรุขระ เช่น พลาสติก, แก้ว, โลหะ เป็นต้น
  5. ฟิล์มหด PLA (Polylactic Acid) หรือ Biodegradable film เป็นฟิล์มที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นฟิล์มที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด เป็นต้น โดยมาพัฒนาการผลิตมาเป็นฟิล์มหดที่สามารถพิมพ์ได้ สามารถหดรัดรูปได้แนบสนิทกับรูปทรงต่าง ๆ ได้ดี และยังคงการย่อยสลายได้จากกระบวนการหมักตามธรรมชาติ

เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก

จากประเภทของฉลากและการนำไปใช้งานที่หลากหลาย ทำให้การพิมพ์ฉลากจะสามารถพิมพ์ได้จากหลายระบบการพิมพ์ ดังแสดงในรูปที่ 5 สำหรับการเลือกระบบการพิมพ์ให้เหมาะสมกับฉลากจะมีการพิจารณาจากรูปแบบของฉลาก การทำลักษณะพิเศษ จำนวนในการพิมพ์ และลักษณะการใช้งาน

จากรูปที่ 5 เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะของเครื่องพิมพ์ คือ เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์ระบบเดียว (Single printing process) และเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์แบบผสม (Combination printing process) โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยระบบการพิมพ์เดียว เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ระบบการพิมพ์เพียงระบบเดียวในการพิมพ์งานฉลาก เช่น เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น เครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีแบบหน้าแคบ (Narrow web flexography press) เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์แบบผสม เครื่องพิมพ์ที่นำมาใช้ในการผลิตฉลาก จะมีการติดตั้งระบบการพิมพ์ไม่น้อยกว่า 2 ระบบ ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ในการเลือกระบบการพิมพ์เพื่อใช้ในการพิมพ์รายละเอียดของภาพในบริเวณที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องพิมพ์แบบผสม จะมีการติดตั้งระบบการพิมพ์ออฟเซตเพื่อการพิมพ์ตัวอักษรขนาดเล็ก ติดตั้งระบบการพิมพ์สกรีน เพื่อใช้ในการพิมพ์สีพื้นบนฟิล์ม มีการติดตั้งระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ เพื่อใช้ในการปั้มทอง ดังแสดงในรูปที่ 6 โดยป้อมพิมพ์สามารถถอดออกมา เพื่อสลับการเรียงระบบการพิมพ์ให้เหมาะสมในการผลิตฉลากแต่ละแบบ สามารถติดตั้งตัวกลับวัสดุพิมพ์ เพื่อให้สามารถพิมพ์ได้ทั้งสองด้านของวัสดุ และโดยส่วนมากเครื่องพิมพ์แบบผสม จะมีการติดตั้งป้อมไดคัท เพื่อใช้ในการปั้มตัดให้งานฉลากสามารถเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นวงกลม หรือสี่เหลี่ยม ตามที่ลูกค้าต้องการ

เครื่องพิมพ์แบบผสมจะสามารถเพิ่มมูลค่าของงานฉลากด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่แตกต่างกันไป เช่น การปั้มทอง การพิมพ์หมึกที่มีกลิ่น เป็นต้น ทำให้ฉลากที่ผลิตได้จะมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าฉลากที่พิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์เดียว และทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์แบบผสม เป็นที่นิยมในการใช้ในการพิมพ์ฉลาก ตัวอย่างงานพิมพ์ฉลาก จะแสดงในรูปที่ 7

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า