เปิดตลาด AEC เปิดตลาดเมียนมาร์

p54-56_2

ตลาด AEC เปิดแล้วยังไงต่อ?
“เมียนมาร์” ขุมทรัพย์ใหม่หรือประเทศปราบเซียน

โดย..หมวยโรงพิมพ์

การหาตลาดใหม่-หนีตลาดแข่งเดือดมีให้เห็นเสมอ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรหรืออยู่ในช่วงยุคไหน จนแทบดูเป็นเรื่องธรรมดา และที่จริงก็เป็นความจำเป็นที่เจ้าของกิจการจะต้องดิ้นรนเล็งหาขุมทรัพย์ใหม่ เพราะหากยังวังวนอยู่แต่ในตลาดเดิมๆ อาจต้องเผชิญความถดถอยได้

ในแวดวงอุตสาหกรรมการพิมพ์ก็เช่นกัน การแข่งขันในประเทศเข้มข้น ทั้งแข่งกับคู่แข่งในตลาด และแข่งกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเห็นคนรุ่นใหม่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการงัดกลยุทธ์รอบตัวมาใช้ และหนึ่งในนั้นก็คือการสร้างโอกาส-สร้างการลงทุนในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

“เมียนมาร์” หรือ “พม่า” ดูจะเป็นตลาดใกล้ตัวที่เจ้าของโรงพิมพ์หลายคนสนใจ ด้วยมีปัจจัยบวกหอมหวนชวนควักเงินทำธุรกิจ เพราะเริ่มเปิดประเทศ ทำให้ยังมีช่องว่างการตลาดให้เข้าไปเสียบ แต่ต้องเสียบให้ถูกที่ถูกเวลาและถูกจังหวะ ไม่เช่นนั้นอาจหงายเก๋งกลับเมืองไทยไม่รู้ตัวได้

นอกจากนี้ การมีรัฐบาลใหม่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้อยู่หมัด ยิ่งได้พลเรือนมาเป็นประธานาธิบดี จุดนี้ยิ่งจูงใจให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติพุ่งเป้าหลั่งไหลเข้าประเทศยาวไปๆ ได้ยินว่า เงินลงทุนฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปขยับเข้าไปหนาขึ้นๆ ทุกวัน เพราะเห็นเป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

p54-56_3

ทุกวันนี้ในเมียนมาร์ยังมีผู้ประกอบการโรงพิมพ์ไทยเข้าไปทำตลาดเพียงเล็กน้อย เพราะอุตสาหกรรมการพิมพ์ยังไม่ค่อยโต

คนไทยส่วนใหญ่เข้าไปเปิดบริษัทอีเว้นต์หรือไม่ก็บริษัทเทรดดิ้ง ทำธุรกิจซื้อมาขายไป เป็นแบบเบี้ยหัวแตก ทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มองไปทางไหนก็เจอแบรนด์สินค้าไทยเข้าไปทำตลาดเยอะมาก โตเป็นดอกเห็ดเลยทีเดียว แต่ฟากแบรนด์จากจีน, สิงคโปร์, เกาหลี หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็มีให้เห็นเช่นกัน

แม้จะเห็นสินค้าสัญชาติไทยจำนวนมาก แต่อย่าชะล่าใจคิดไปว่า จะเข้าไปสร้างโอกาส สร้างการลงทุนกับการเป็นตัวแทนเอาสินค้าจากบ้านเราไปขายที่โน่น หวังคิดส่วนต่างบวกเท่านั้นเท่านี้..คิดผิดมหันต์ เพราะพ่อค้าเมียนมาร์ฉลาด เขาไม่เอาหรอก เขาพกเงินสดข้ามชายแดนมาซื้อโดยตรงกับเจ้าของโรงงานเลย หรือไม่ก็มาเดินเลือกด้วยตัวเองที่ร้านค้ากรุงเทพฯ

เขารู้ว่าสินค้าตัวไหนดี แบรนด์อะไรเป็นเลิศ เขามาจ่ายเป็นเงินสดไปเลย บ้างก็ซื้อแล้วหิ้วของไปเองเลย บ้างก็ให้เอาไปส่งชายแดนไทย แล้วเขาเอารถมารอรับชายแดนพม่า ขนไปต่อเองถึงปลายทาง ดังนั้น ที่ผ่านมาเห็นคนล้มเหลวตรงนี้มานักต่อนักแล้ว อยากให้ล้มเลิกความคิดที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายไอ้โน้นไอ้นี่กับเมียนมาร์ไปเลย ทำไม่ได้หรอก เจ๋งหมด ยืนยันนอนยันเขาไม่ซื้อ

ยิ่งกลุ่มคนเมียนมาร์พวกใหญ่ๆ โตๆ มีบ้านมีคอนโดมิเนียมอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บินมาบ้าง ข้ามทางชายแดนมาบ้าง เดี๋ยวมาเช็คอัพร่างกาย เดี๋ยวมากินมานอนเล่น เดี๋ยวมาช้อปปิ้ง เรียกว่า มากันแทบจะทุกๆ สามเดือน ดังนั้น สินค้าบางตัวที่เราเห็นดีๆ เทรดดิ้งเมียนมาร์เข้ามาซื้อโดยตรงแล้วเอาไปขายหมดแล้ว ไม่มีหลงเหลือให้เราหิ้วไปขายในประเทศเขาหรอก

p54-56_4

ดังนั้น คนที่สนใจจะสร้างโอกาส สร้างการลงทุนในเมียนมาร์ ขอแนะนำเคล็ดลับเบื้องต้นง่ายๆ 4 ข้อ ได้แก่ ข้อแรกควรศึกษาตลาดจากผู้รู้หรือคนที่เคยเข้าไปก่อนหน้านี้ ขอย้ำว่า ไม่ควรเข้าไปโดยไม่ได้ศึกษา ข้อ 2 ควรจับมือพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นที่แข็งแกร่งร่วมทำธุรกิจ ขอเตือนอย่าไปแบบข้ามาคนเดียว ข้อ 3 ควรเกาะกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจไทยด้วยกัน เพราะเวลามีอะไรจะได้ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันได้ คนเดียวหัวหายสองคนเพื่อนตาย เกาะเป็นกลุ่มไม่อันตราย และข้อ 4 ควรเดินเข้าออกสถานทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้งบ่อยๆ เพราะที่นั่นนอกจากมีกูรูผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและแนะนำแล้ว ยังขอยืมสถานที่ทำบิสิเนสแมชชิ่งได้อย่างดีงาม ที่สำคัญท่านเอกอัตรราชทูตฯ จะดูแลช่วยเหลือนักธุรกิจไทยอย่างใกล้ชิดและอบอุ่นทั่วหน้า

ถ้าปฏิบัติเบื้องต้นได้ตามนี้ แม้ “เมียนมาร์” จะเป็นประเทศปราบเซียน แต่ก็เชื่อว่า มือใหม่จะเอาตัวรอดอย่างปลอดภัย ขั้นตอนต่อไปก็ค่อยๆ วางหมากงัดกลยุทธ์ลุยตลาดกันไป ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หนักบ้างเบาบ้าง ถ้าค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ เข้าทำนองขยันวิ่งไปเรื่อยๆ แม้จะเป็นเบี้ยหัวแตก แต่เชื่อว่าตลาดเมียนมาร์เป็นอีกขุมทรัพย์ใหม่อย่างแน่แท้!!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า