การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 2

การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 2 (Engineering cost reduction For the printing and packaging industry, part 2)

วิรัช เดชาสิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต wirach.ton@gmail.com

ในเนื้อหาของฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ ในโรงงาน โรงพิมพ์ ซึ่งมีหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของค่าไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน โรงพิมพ์ ในแต่ละเดือน แต่ละปี ซื่งวิธีการนี้จะทำได้ง่ายและเห็นผลทันที
  2. ลดต้นทุนด้านอะไหล่ของเครื่องจักรทุกประเภทในโรงงาน ซึ่งวิธีการนี้ก็จะเห็นผลเร็วเช่นเดียวกัน
  3. ลดการชำรุดของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ต่อเนื่องที่ใช้ในโรงงาน วิธีการนี้จะเห็นผลช้าหน่อย แต่ได้รับผลประโยชน์มากเช่นเดียวกัน และจะได้ผลทั้งทางตรงและทางอ้อม และได้รับผลประโยชน์อย่างยั่งยืน
  4. ลดต้นทุนด้านแรงงาน โดยใช้หลักการทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยในการทำงาน เช่น เพิ่มเครื่องจักรอัตโนมัติหรือปรับปรุงเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมให้ทำงานเร็วขึ้น สะดวกขึ้น หรือจัดการวางผังเครื่องจักรใหม่ เพื่อให้ระบบการส่งต่อของขบวนการผลิต เคลื่อนย้ายได้สะดวกแบบไม่ติดขัด
  5. ลดต้นทุนในเรื่องของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ให้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ ระบบการจัดเก็บ (ทั้งรับเข้าและส่งออก) ขบวนการผลิต ระบบเคลื่อนย้ายและส่งต่อภายใน การบรรจุหีบห่อและการจัดเรียง และระบบไอที/มอนิเตอร์ สำหรับควบคุม รายงาน และแจ้งเตือนทุกขบวนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทราบถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ( Real Time Monitoring)

ตามหัวข้อที่ 1. ได้อธิบายถึงวิธีการลดต้นทุนในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่ใช้ในระบบส่องสว่าง และลดค่าไฟฟ้าที่ใช้กับปั๊มลมไปแล้วในฉบับนี้ จะอธิบายถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านอะไหล่ของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ทุกประเภท ซึ่งอยู่ในหัวข้อที่ 2.

และในหัวข้อที่ 2. ประเภทแรกที่จะมาอธิบายคือ ลูกกลิ้งหุ้มยางที่ใช้ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ทุกประเภท (ลูกกลิ้งที่ไม่หุ้มยางจะไม่ขออธิบาย เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงไม่มากนัก)

ก่อนที่จะอธิบายถึงการลดค่าใช้จ่ายของลูกกลิ้งหุ้มยาง จะขออธิบายเกี่ยวกับลูกกลิ้งหุ้มยางก่อนว่าทำไมถึงมีความสำคัญในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรทราบมีดังนี้

  1. ลูกกลิ้งหุ้มยางคือลักษณะอย่างไร
  2. ทำไมจึงต้องใช้ยางหุ้มลูกกลิ้ง
  3. การกำหนดสูตรยางสำหรับลูกกลิ้งชนิดต่าง ๆ
  4. วัสดุที่ใช้หุ้มลูกกลิ้ง
  5. คุณสมบัติต่าง ๆของยางที่ใช้หุ้มลูกกลิ้ง

1. ลูกกลิ้งหุ้มยางคือลักษณะอย่างไร

คำจำกัดความของลูกกลิ้งหุ้มยางก็คือ ลูกกลิ้งที่มีแกนเป็นโลหะหรือไม่เป็นโลหะ เช่น เหล็ก สแตนเลส อลูมิเนียม พลาสติก หรืออื่น ๆ ที่ถูกห่อหุ้มด้วยยางหรือถูกเคลือบด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ ซึ่งการถูกหุ้มหรือถูกเคลือบจะเริ่มจากความหนาตั้งแต่ 1 มม. หรือน้อยกว่า ไปจนถึง 10, 15, 20 หรือ 30 มม.หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ซึ่งตัวแกนลูกกลิ้งเอง จะเริ่มจากความโตขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึง 1500 มม. หรือมากกว่า และมีความยาวไปจนถึง 10000 มม.หรือมากกว่า

2. ทำไมจึงต้องใช้ยางหุ้มลูกกลิ้ง

รูปแบบการใช้งานลูกกลิ้งหุ้มยางแบบต่าง ๆ

2.1 Squeeze Rolls

2.2 Laminating Rolls

2.3 Conveying Rolls

2.4 Feed Rolls

คุณประโยชน์ของลูกกลิ้งหุ้มยาง

  1. เพิ่มสัมประสิทธิ์ ค่าความฝืด ความหนืดของผิวสัมผัส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานของเครื่องจักร เช่นการดึง การลำเลียง การส่งผ่านวัสดุ เช่นกระดาษ ฟิล์มพลาสติก ผ้า และอื่น ๆ
  2. ผิวของยางที่ยืดหยุ่นได้ เมื่อมีแรงกดอัดมากระทำจนผิวยุบตัวลง ก็สามารถปรับคืนสู่สภาพเดิมได้
  3. ยางที่หุ้มลงบนผิวลูกกลิ้งสามารถทนต่อสารเคมีและสารละลายต่าง ๆ ได้
  4. ยางที่หุ้มบนผิวหน้าของลูกกลิ้ง สามารถเลือกให้ได้คุณสมบัติเฉพาะอย่างได้ เช่น
    4.1 ให้ผิวหน้าเป็นฉนวนได้หรือป้องกันไฟฟ้ารั่วได้
    4.2 ให้ผิวเป็นสื่อไฟฟ้าหรือกึ่งตัวนำ พร้อมคุณสมบัติควบคุม กระแสไฟฟ้าได้
    4.3 ให้มีผิวลื่นมัน หรือฝืดได้
    4.4 ตกแต่งเป็นร่อง ลวดลาย หรือ คุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ ได้
  5. ทนต่ออุณหภูมิ เริ่มตั้งแต่ติดลบ -50 oC ไปจนถึงมากกว่า 300 oC ได้
  6. ไม่ทำให้เกิดรอยขูดขีด เมื่อเปรียบเทียบกับลูกกลิ้งไม่มียางหุ้ม เช่น ลูกกลิ้งเหล็ก สแตนเลส ถ้ามีวัสดุหรือของแข็งมากระทำ ก็จะทำให้ผิวเป็นรอยได้
  7. เป็นคุณลักษณะทางธรรมชาติของยาง คือช่วยปรับแนวต่าง ๆของเครื่องจักรได้ (Machine Alignment)

3. การกำหนดสูตรยางของลูกกลิ้งชนิดต่าง ๆ

ในการกำหนดสูตรของยางที่จะใช้หุ้มลูกกลิ้ง ทางผู้ใช้งานคือ โรงพิมพ์และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีใช้งานลูกกลิ้งหุ้มยางอยู่ และโรงงานที่ผลิต หรือรับซ่อมลูกกลิ้งหุ้มยางจะต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่า จะต้องใช้ยางชนิดไหนมาหุ้มลูกกลิ้งทั้งสร้างใหม่และใช้ในการซ่อม เพื่อลูกกลิ้งที่ทำใหม่ หรือซ่อมเสร็จแล้ว สามารถนำไปใช้งานได้อย่างดี ผลิตงานออกมามีคุณภาพ อายุการใช้งานยาวนาน และอยู่ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งรายละเอียดที่ควรทราบมีดังนี้

3.1 ต้องทราบว่าลูกกลิ้งที่ใช้งาน ใช้กับเครื่องจักรอะไร ในอุตสาหกรรมอะไร
3.2 ตำแหน่งที่ถูกใช้งานในเครื่องจักรมีหน้าที่ทำอะไร มีสารเคมี สารทำละลาย ที่ถูกสัมผัสมีอะไรบ้าง
3.3 ความร้อน แรงกดอัด แรงเสียดสี วัสดุที่วิ่งผ่านลูกกลิ้ง
3.4 ความแข็งของเนื้อยาง ลักษณะของผิวขึ้นลายหรือไม่ ผิวมันไหม
3.5 และอื่น ๆตามคู่มือที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกำหนดมา หรือถ้าเป็นเครื่องจักรมือสองที่ไม่มีคู่มือ เราต้องกำหนดเองโดยเปรียบเทียบกับเครื่องจักรที่มีคู่มือที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้

เมื่อเราทราบข้อมูลลูกกลิ้งแล้ว ทางเราเองในฐานะเจ้าของและผู้รับผิดชอบดูแลเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ และรวมถึงผู้ผลิต ผู้รับซ่อมลูกกลิ้งหุ้มยาง ก็ต้องปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เพื่อนำข้อมูลนี้ไปออกสูตรยางสำหรับที่จะนำไปหุ้มลูกกลิ้งต่อไป

ขั้นตอนการผลิตลูกกลิ้งหุ้มยาง เริ่มจากการผสมยาง การขึ้นรูปยางบนแกน การอบยางให้สุก และการเจียรยาง

รูปแสดงการผสมยาง บนเครื่องผสมยาง ซึ่งการผสมยางทำตามสูตรที่ได้ออกมาจากห้องแล็ป หรือฝ่ายผลิต

รูปแสดงการขึ้นรูปยาง การพันยาง การหล่อยาง ซึ่งยางที่ผ่านการผสมมาแล้ว จะเข้าเครื่องรีดออกมาเป็นเส้นแบน ๆ แล้วไปพันบนแกนลูกกลิ้ง หมุนและเคลื่อนที่ไป-กลับ ให้ได้ความหนาของยางตามความต้องการ (ความหนายางต้องเผื่อขนาดสำหรับเจียรออกในขั้นตอนสุดท้ายด้วย)

รูปแสดงลูกกลิ้งที่ผ่านการขึ้นรูปยาง พันยางมาแล้ว จะถูกห่อด้วยผ้าเนื้อหนาหรือฟิล์มพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ไอสตีมสัมผัสกับเนื้อยางโดยตรง จากนั้นนำขึ้นรถเข็นเข้าไปอบในหม้ออบด้วยไอน้ำ เพื่อให้เนื้อยางสุก

การเจียรผิวยางให้เรียบและให้ได้ขนาดความโตตามความต้องการ เป็นขั้นตอนที่ลูกกลิ้งถูกนำออกมาจากหม้ออบไอน้ำและปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นตัวแล้ว แกะผ้าหรือฟิล์มที่หุ้มออก จากนั้นนำขึ้นบนเครื่องเจียรยางให้ได้ผิวและขนาดตามความต้องการ

ลูกกลิ้งที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจเช็คขนาด ความแข็ง ลักษณะของผิวหน้ายาง ว่าอยู่ในสเปคที่ได้กำหนดหรือที่ตกลงไว้กับลูกค้าหรือไม่ ถ้าไม่ได้ต้องรื้อยางออกและผลิตใหม่ แต่ถ้าตกลงกับลูกค้าได้ โดยไม่มีผลเสียต่อการใช้งาน ก็ส่งมอบงานได้

4. วัสดุที่ใช้หุ้มลูกกลิ้ง

ในปัจจุบันนี้ทางผู้ผลิตเนื้อยางที่เป็นวัตถุดิบและเคมีที่ผสมในเนื้อยาง ได้ตั้งชื่อทางการค้าเนื้อยาง เพื่อให้เป็นที่จดจำเฉพาะโปรดักส์ของตนเอง และไปเสนอขายให้กับผู้ใช้งานและโรงงานที่ผลิตและรับซ่อมลูกกลิ้งหุ้มยาง ซึ่งบางครั้งทางผู้ใช้งาน ผู้ผลิตและรับซ่อมลูกกลิ้งหุ้มยางก็ไม่ทราบว่าชื่อสามัญของยางชนิดนั้นคืออะไร ในที่นี้จะได้อธิบายเกี่ยวกับยางชนิดต่าง ๆ ว่ามีชื่ออะไรบ้าง และจะนำไปใช้หุ้มลูกกลิ้งยาง ใช้ในตำแหน่งไหนในเครื่องจักร เพี่อให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของยางแต่ละชนิด

4.1 ยางนีโอพรีน (Neoprene) หรือ คลอโรพรีน (Chloroprene) หรือเราเรียกกันง่าย ๆว่า ยางCR เป็นยางสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนต่อน้ำมันได้ทุกประเภท ทนต่อกรดได้ดีเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะกรดเกลือ และมีความเหนียวและยืดหยุ่นตัวสูง ใช้งานในช่วงอุณหภูมิ -20 - 90oC เหมาะกับลูกกลิ้งใช้งานที่เป็นลักษณะ Feed หรือ Push-Pull สำหรับยางชนิดนี้ไม่ค่อยได้นำมาใช้งานมากก็เพราะว่ามีราคาสูง จำเป็นต้องใช้งานในบาง Process และบางอุตสาหกรรมเท่านั้น

4.2 ยางไนไตรท์ (Nitrile) หรือ Buna N ชื่อเต็ม ๆ คือ Nitrile Butadiene Rubber หรือเรียกจนติดปาก คือ ยาง NBR นั่นเอง ยาง NBR เป็นยางที่นิยมใช้กันมากที่สุดในเกือบทุกอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรประเภทมีลูกกลิ้งหุ้มยางประกอบอยู่ในเครื่อง เป็นยางสังเคราะห์ที่ราคาไม่สูงมาก ทนต่อน้ำมันได้ดี และทนต่อสารเคมีได้ดีเช่นเดียวกัน งานที่นำไปใช้คือพวกลูกกลิ้ง Ink Roll, Squeeze Roll ใน Wet Processing เครื่องพิมพ์ดิจิตอล และ Copy Machine

4.3 ยาง อี พี ดี เอ็ม (EPDM) เป็นยางสังเคราะห์ตัวหนึ่ง ชื่อเต็มคือ Ethylene-Propylene Diene Rubber (EPDM) เป็นยางที่มีคุณสมบัติที่ทนสารเคมีได้ดีมาก ทนความร้อนได้ตั้งแต่ -40 - 150oC และทนต่อโอโซนได้ดีอีกด้วย มีความยืดหยุ่นตัวสูงรองจากยางธรรมชาติ แต่ไม่ทนกับน้ำมัน ส่วนมากจะใช้ทำอะไหล่ในเครื่องจักร เช่น ประเก็น ซีล สำหรับวาล์ว ปั๊ม ทำเป็นไดอะแฟรมของวาล์วและปั๊ม และถ้านำไปหุ้มลูกกลิ้ง บริเวณใช้งานของลูกกลิ้งในเครื่องจักร ต้องมีสารเคมีและอุณหภูมิสูง และยางชนิดนี้มีราคาแพงกว่ายาง NBR มาก

4.4 ยางซิลิโคน (Silicone) เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมา เพื่อเลียนแบบยางธรรมชาติ มีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ ทนอุณหภูมิสูงถึง 300oC ทนต่อสารเคมีได้ดี และมีผิวลื่นมัน ส่วนมากใช้ทำซีล ประเก็น ท่อยาง และชิ้นส่วนเครื่องจักรต่าง ๆ สำหรับที่นำไปหุ้มลูกกลิ้ง จะใช้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง

4.5 ยางโพลียูรีเทน (Polyurethane) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ายาง PU เป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้แทนยางธรรมชาติ มีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างคือ เคลือบบนไม้ โลหะ พลาสติกได้ และยังทนน้ำมัน ความร้อน แรงกดอัด แรงเสียดสี แรงกระแทก และรับน้ำหนักได้ดีเมื่อเทียบกับวัสดุตัวอื่น ๆ และทนต่อสารเคมีบางชนิดได้ เป็นฉนวนไฟฟ้าได้ ส่วนมากทำลูกกลิ้งลำเลียง ลูกล้อ อะไหล่เครื่องจักร อุณหภูมิใช้งาน -20 - 120oC

4.6 ยางธรรมชาติ (Natural Rubber) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ายาง NR เป็นยางที่ต้องเลือกนำไปใช้งานในตำแหน่งที่ไม่มีสารเคมี โอโซน หรือน้ำมันและความร้อนที่ไม่สูง ซึ่งส่วนมากเอาไว้หุ้มลูกกลิ้งลำเลียง สายพานลำเลียง อะไหล่ ขารองงาน และอื่น ๆ ข้อดีคือราคาถูกและหาง่าย

4.7 ยาง เอส บี อาร์ (SBR) เป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง คิดค้นโดยประเทศเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ และราคาไม่แพง ใช้งานที่อุณหภูมิตั้งแต่ -20 - 100oC แปรรูปได้ง่าย ใช้ทำอะไหล่รถยนต์ อะไหล่เครื่องจักร ปูพื้นอาคาร คอสะพาน ชิ้นส่วนในเครื่องพิมพ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

4.8 ยางไฮพาลอน (Hypalon Rubber) เป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง ทนต่อเคมีและแสงยูวีได้ดี ส่วนทนต่อน้ำมันทำได้ดีปานกลาง อุณหภูมิใช้งานอยู่ในช่วง -30 - 180oC เหมาะใช้ทำอะไหล่รถยนต์ อะไหล่เครื่องจักร และชิ้นงานที่อยู่กลางแจ้ง

4.9 ยางไวตัน (Viton Rubber) เป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง ที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายใช้ทำชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ของเครื่องจักร เช่น โอริง ซีล เพราะทนต่อสารเคมีได้ดีเกือบทุกชนิด ทนต่ออุณหภูมิได้ตั้งแต่ -20 - 220oC

นอกจากนี้ยังมียางในชนิดอื่น ๆ อีกเช่น Acrylic, Thiokol, Butyl Polymer ชนิดพิเศษ ซึ่งยางเหล่านี้อาจใช้ไม่แพร่หลายมากนัก

5. คุณสมบัติต่าง ๆ ของยาง

ในการเลือกยางมาใช้หุ้มลูกกลิ้ง มาทำอะไหล่ต่าง ๆ ต้องทราบคุณสมบัติของยางที่เกี่ยวข้องกับกายภาพต่าง ๆ ของยางแต่ละชนิดนั้นว่าถูกต้อง เหมาะสม หรือใกล้เคียงกับงานหรือไม่ ซึ่งค่าหรือสเปคของยาง เราก็จะทราบได้จากคู่มือ จากผู้ขายยาง จากตำราต่าง ๆ เกี่ยวกับชนิดของยางนั้น ๆ
ซึ่งคุณสมบัติต่าง ๆที่ต้องนำมาเลือกใช้ยางมีคร่าว ๆ ดังนี้

  • การยืด การหดตัวของยาง
  • การยึดเกาะตัวของยางเข้ากับแกนลูกกลิ้ง ดุม หรือ โครงของงาน
  • ความยืดหยุ่นตัว การคืนตัวของเนื้อยาง
  • การต้านทานต่อแรงกดอัด และ แรงดึง
  • ความอ่อน ความแข็ง ของเนื้อยาง
  • ทนต่อสารละลาย เคมีต่าง ๆ
  • การนำ หรือ การเป็นฉนวนไฟฟ้า
  • ความฝืด ความลื่นของผิวยาง
  • ทนต่ออุณหภูมิต่ำ อุณหภูมิสูง

เมื่อเราทราบว่าชิ้นงาน อะไหล่ ลูกกลิ้งหุ้มยาง ต้องการยางแบบไหน เราก็เลือกยางให้ตรงกับความต้องการหรือสเปคที่กำหนดมา เพื่อออกเป็นสูตรในการผสมยางและผ่านเข้าขั้นตอนในขบวนการผลิตต่อไป และในบางครั้ง คู่มือเครื่องจักรก็มีสเปคยางให้มาด้วย ก็จะง่ายขึ้นในการเลือกยางมาใช้ในการผลิต และในปัจจุบัน ถ้าเราบอกว่าลูกกลิ้งหุ้มยางของเราใช้งานกับเครื่องอะไร บริเวณส่วนไหนของเครื่อง มีสารเคมี ตัวทำละลาย ความร้อน และความแข็งเนื้อยางเท่าไร ขนาดลูกกลิ้ง เพียงแค่นี้ทางโรงงานที่รับหล่อลูกกลิ้งหุ้มยางก็สามารถให้ราคาและออกสูตรผสมยางได้ทันที

ทีนี้เรามาดูกันว่า เราจะมีวิธีในการลดต้นทุนเกี่ยวกับลูกกลิ้งหุ้มยางที่ใช้อยู่อย่างไรบ้าง ดังนี้ :

ลูกกลิ้งหุ้มยาง (Rubber Rollers)

ถ้าเรามีหน้าที่ดูแลในการใช้งาน การซ่อม การจัดเก็บลูกกลิ้งหุ้มยาง เราต้องมีเครื่องมือที่จะใช้วัดขนาด ความแข็งของเนื้อยาง ดังนี้

1. ตลับเมตร ฟุตเหล็ก ใช้วัดขนาดความยาวของลูกกลิ้ง

2. เวอร์เนียคาลิปเปอร์ชนิดปากยาว (Long Jaw Vernier Caliper) ใช้วัดขนาดความโตลูกกลิ้ง

รูปแสดงการวัดขนาดเพลาหรือความโตนอกของลูกกลิ้ง โดยใช้เวอร์เนียคาลิปเปอร์

3. เขาควาย (Outside Caliper) ใช้วัดขนาดความโตนอกลูกกลิ้ง หรือเพลา

วิธีการวัดความโตนอกลูกกลิ้ง โดยใช้เขาควาย (Outside Caliper)

4. เครื่องมือวัดความแข็งยาง (Rubber Hardness Tester)

อ่านต่อฉบับหน้า


ข้อมูลอ้างอิง
• ตามประสบการณ์จริงของผู้เขียน
• Q.C.ROLL CO.,LTD.

เครดิตภาพประกอบ
• http://voith.com/br-pt/papermaking/roll-covers.html
• https://www.foroffice.ru/products/description/139816.html
• https://kingtoner.co.uk/
• https://www.exportersindia.com/pooja-sales-rajkot/rubber-covered-conveyor-roller-rajkot-india-648506.htm
• http://www.vilferelectric.com/en/2018/02/02/hadera-chp-plant-israel/
• https://www.indiamart.com/proddetail/ink-form-rollers-11450741473.html
• https://i.ytimg.com/vi/dic7hCkZTOQ/maxresdefault.jpg
• https://www.indiamart.com/hindustanrubber/
• https://eks64.ru/wp-content/uploads/2017/03/obrezinennyie-valyi.jpg
• http://www.stanley-thailand.com/
• https://toolineo.de/tesa-werkst.messsch.o.sp.1-20-500x250mm-p!100000000048398.html
• https://www.teachifyme.com/physical-quantities-and-units/
• https://www.wikihow.com/Use-Calipers
• https://www.electronicpro.co.za/products/2pcs-250mm-length-firm-joint-metal-measurement-inside-outside-caliper-silver
• https://www.gettoolsdirect.com.au/toledo-outside-caliper-solid-nut-100mm-52100.html
• https://www.bukalapak.com/p/industrial/industrial-lainnya/hhhm1j-jual-teclock-durometer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า