สาระน่ารู้เกี่ยวกับทางการพิมพ์ออฟเซต ปัญหาและวิธีแก้ไข ตอนที่ 2
ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
anan.tanwilai@gmail.com
ปัญหาในการพิมพ์ออฟเซต มาจากวัสดุที่นำมาใช้ในกระบวนการพิมพ์ อาทิเช่น กระดาษ น้ำยาฟาว์นเทน รวมถึงแม่พิมพ์หรือเพลท ปัญหาต่างๆ สามารถทำให้เกิดการสูญเสียของงานพิมพ์ รวมถึงเวลาในการผลิตงาน ช่างพิมพ์และผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน จึงควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งทำกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นเอง
ที่โรงพิมพ์พิมพ์งานฉลาก พบปัญหาตอนตัดงาน เนื่องจากภาพพิมพ์มีการหดสั้นลงกว่าต้นฉบับ มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร
ภาพพิมพ์มีการยืดหด เกิดจากเส้นรอบวงของโมเพลทหรือโมกดพิมพ์ (โมเหล็ก) ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยปกติโครงสร้างเครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น จะมีการออกแบบช่วงลึกบ่าโม (อันเดอร์คัท) ของโมเพลทมาแตกต่างกัน บางบริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ออกแบบโครงสร้างโมให้มีการรองหนุนที่โมเพลท บางบริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ออกแบบให้ไม่ต้องทำการรองหนุนที่โมเพลท หากทำการรองหนุน ทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางของโมเพลทมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดปัญหาภาพพิมพ์มีการหดตัวได้ การแก้ไขเบื้องต้นให้ทำการตรวจสอบการรองหนุนโมเพลทและโมผ้ายางให้ถูกต้องตามคู่มือเครื่องพิมพ์ โดยปกติการรองหนุนโมเพลท จะทำการรองหนุนให้เพลทสูงกว่าบ่าโมประมาณ 0.10 – 0.15 มิลลิเมตร เพื่อให้เกิดแรงกดระหว่างโมเพลทกับโมยาง สามารถวัดความสูงของเพลทที่สูงกว่าบ่าโมได้โดยใช้เครื่องแพคกิ้งเกจในการวัด สำหรับโมยาง การรองหนุนโมยางจะให้ผ้ายางนั้นมีความสูงเท่ากับบ่าโมพอดี แรงกดระหว่างโมเพลทและโมยาง จะมีแรงกดประมาณ 0.10 – 0.15 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นแรงกดมาตรฐานในการพิมพ์ออฟเซต บางโรงพิมพ์มีการรองหนุนโมยางที่สูงกว่าที่กำหนด อาจจะทำให้เกิดปัญหาภาพพิมพ์มีการยืดตัว และทำให้สีมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เนื่องจากแรงกดระหว่างโมเพลทและโมยางมีการกดกันมากไป ทำให้ส่งผลต่อสีของภาพพิมพ์ และยังส่งผลต่อเฟืองของเครื่องพิมพ์ ที่ทำให้มีการอัดกันระหว่างเฟืองมากเกินไปอีกด้วย
การที่โรงพิมพ์ประสบปัญหางานปรู๊ฟดิจิตอลกับงานพิมพ์ที่พิมพ์ได้มีสีที่แตกต่างกัน เกิดจากสาเหตุใด
การปรู๊ฟสีงานพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิตอลในปัจจุบันมีการใช้งานโดยทั่วไป อยู่ 2 ระบบ คือ ระบบเลเซอร์และระบบอิงค์เจ็ท แต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจะเป็นการปรู๊ฟด้วยระบบอิงค์เจ็ท การที่สีของงานพิมพ์มีความแตกต่างกัน สามารถวิเคราะห์ได้จากวัสดุ และระบบการพิมพ์ที่ใช้นั้นเอง ในส่วนของวัสดุ หมึกพิมพ์และกระดาษมีความสำคัญอย่างมากต่อการผลิตสีงานพิมพ์ โดยระบบอิงค์เจ็ทเอง มีการใช้หมึกพิมพ์ฐานน้ำในการผลิตสีในงานปรู๊ฟ ส่วนระบบการพิมพ์ออฟเซต จะใช้หมึกพิมพ์ฐานน้ำมันในการผลิตสี ทำให้หมึกพิมพ์ที่ใช้มีความแตกต่างกัน กระดาษที่ใช้ในการพิมพ์และการปรู๊ฟงาน ก็มีความแตกต่างกัน โดยกระดาษที่ใช้ในการปรู๊ฟส่วนใหญ่เป็นกระดาษที่มีความมันวาวสูง (High Gloss) จากวัสดุทั้งสองที่มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้การผลิตสีบนแผ่นปรู๊ฟและงานพิมพ์จะมีความแตกต่างกันไปด้วย ในส่วนของระบบการพิมพ์ก็เช่นกัน ระบบการพิมพ์โดยทั่วไปมีการใช้แรงกดในการพิมพ์ ทำให้มีการเกิดการบวมตัวของเม็ดสกรีนเกิดขึ้น สีที่ได้บนแผ่นพิมพ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่การปรู๊ฟด้วยระบบอิงค์เจ็ท หมึกพิมพ์จะถูกพ่นออกมาจากหัวพิมพ์ เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์แบบไร้แรงกด เป็นสาเหตุของการเกิดความแตกต่างสีของแผ่นปรู๊ฟและแผ่นพิมพ์ ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีของระบบการจัดการสี (Colour Management System, CMS) ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การปรู๊ฟดิจิตอล สามารถผลิตสีที่มีความใกล้เคียงหรือเหมือนกันแผ่นพิมพ์จริงได้ ซึ่งสถานประกอบการควรมีการศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการเลือกใช้อุปกรณ์และซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละแห่ง ทำให้ปัญหาความแตกต่างสีระหว่างแผ่นพิมพ์และแผ่นปรู๊ฟได้ลดน้อยลงไป
ที่โรงพิมพ์พิมพ์งานสี่สีบนกระดาษปอนด์ พบปัญหาเม็ดสกรีนบวมมาก จนทำให้รายละเอียดของภาพหายไป สีที่ได้มีความแตกต่างจากต้นฉบับค่อนข้างมาก แรงกดที่ใช้ในการพิมพ์ได้มีการปรับตั้งตามความหนาของกระดาษ เกิดจากสาเหตุใด และมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
การเกิดเม็ดสกรีนบวม เป็นลักษณะปกติของการพิมพ์ที่ใช้แรงกด แต่การเกิดเม็ดสกรีนบวมที่มากเกินไป จะเป็นปัญหาทางการพิมพ์ โดยปกติการปรับตั้งแรงกดที่ถูกต้อง จะเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมการการเกิดเม็ดสกรีนบวม หากมีการปรับตั้งแรงกดที่ถูกต้องแล้ว ให้พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หมึกพิมพ์มีความเหนียวหนืดเหมาะสมหรือไม่ หากหมึกพิมพ์ที่มีความเหลว จะทำให้เกิดเม็ดสกรีนบวมมากขึ้น อีกปัจจัยที่สำคัญ คือการเลือกความละเอียดสกรีนให้เหมาะสมกับกระดาษที่พิมพ์ กระดาษเคลือบผิวส่วนใหญ่ เช่น กระดาษอาร์ตมัน กระดาษอาร์ตด้าน สามารถใช้ความละเอียดสกรีนตั้งแต่ 175 เส้นต่อนิ้ว (line per inch, lpi) ขึ้นไปได้ แต่การพิมพ์ลงบนกระดาษไม่เคลือบผิว อาทิเช่น กระดาษปอนด์ กระดาษปรู๊ฟ ควรใช้ความละเอียดสกรีนประมาณ 133, 150 เส้นต่อนิ้ว จะทำให้สามารถควบคุมการเกิดเม็ดสกรีนบวมได้ การปล่อยหมึกพิมพ์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ การปล่อยหมึกพิมพ์มากเกินไป จะทำให้การเกิดเม็ดสกรีนบวมเกิดมากไปด้วย หากมีการควบคุมดังกล่าว จะทำให้การเกิดเม็ดสกรีนบวมมีการเกิดที่เหมาะสม และไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีงานพิมพ์
ในการพิมพ์งานพลาสติก พบปัญหาสภาพการเดินกระดาษไม่ดี พลาสติกที่นำมาใช้พิมพ์มีการติดกัน ไม่สามารถป้อนเข้าพิมพ์ได้ เพราะเหตุใด
การพิมพ์พลาสติกด้วยการพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น ปัญหาสภาพการเดินกระดาษไม่ดี เกิดจากพลาสติกที่นำมาพิมพ์ไม่สามารถแยกตัวกันได้ในระหว่างป้อนเข้าสู่เครื่องพิมพ์ โดยปกติไม่ว่าการพิมพ์กระดาษที่มีผิวลื่นมากๆ ประเภทกระดาษที่เคลือบฟอยล์หรือพลาสติก ปัญหาการเดินกระดาษเข้าเครื่องพิมพ์จะเกิดขึ้น เนื่องจากในกองกระดาษเองจะเกิดไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้น ทำให้กระดาษหรือแผ่นพลาสติกไม่สามารถแยกตัวออกจากกันได้ การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ ควรติดตั้งเครื่องลดการเกิดไฟฟ้าสถิตที่หน่วยป้อนของเครื่องพิมพ์ เพื่อช่วยให้ไฟฟ้าสถิตในกองกระดาษลดลง และทำให้หัวลมดูดและหัวลมเป่าในหน่วยป้อนกระดาษสามารถทำงานได้ และจะสามารถเดินกระดาษได้ดีขึ้น
สภาพแวดล้อมในโรงพิมพ์เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในห้องพิมพ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากจะส่งผลต่อวัสดุที่นำมาใช้พิมพ์ และต่อการแห้งตัวของหมึกพิมพ์อีกด้วย นอกจากนี้หากมีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ไม่เหมาะสม จะทำให้มีการเกิดไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้นอีกด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมในห้องพิมพ์ คือ 22 – 24 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมจะประมาณ 50 – 55% ดังนั้นนอกจากตัววัสดุที่นำมาพิมพ์เองมีไฟฟ้าสถิต สภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตด้วย ซึ่งทางโรงพิมพ์ควรจะต้องมีการตรวจสอบและควบคุมต่อไป
ในการพิมพ์งานแล้ว สีออกมาไม่สม่ำเสมอกันในแต่ละแผ่นพิมพ์ ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด และจะแก้ไขได้อย่างไร
การพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์ออฟเซตนั้น ปัจจัยที่สำคัญ คือ การตั้งลูกหมึกและลูกน้ำที่ถูกต้อง ปัญหางานพิมพ์ที่สีออกมาไม่สม่ำเสมอกัน อาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่เบื้องต้นควรตรวจสอบจากการปรับตั้งลูกหมึกหรือลูกน้ำแตะเพลท ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ควรทำการตรวจสอบการปรับตั้งลูกหมึกและลูกน้ำแตะเพลทให้ถูกต้อง ตามคู่มือของเครื่องพิมพ์แต่ละรุ่น จะเป็นการแก้ไขปัญหาสีออกมาไม่สม่ำเสมอในแต่ละแผ่นพิมพ์ได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ ลักษณะผิวยางของลูกน้ำหรือลูกหมึก โดยปกติผิวยางของลูกน้ำและลูกหมึกจะมีรูพรุน เพื่อช่วยในการถ่ายทอดน้ำหรือหมึกพิมพ์ให้กับเพลท หากผิวยางของลูกน้ำหรือลูกหมึกมีสภาพเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอายุการใช้งาน การทำความสะอาดไม่ถูกต้องซึ่งทำให้มีผงสีหรือแป้งไปสะสมบริเวณผิวของลูกยาง จะส่งผลให้การถ่ายทอดน้ำหรือหมึกพิมพ์ไม่สมบูรณ์ และทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้ ดังนั้นควรมีการตรวจสอบสภาพผิวของลูกน้ำและลูกหมึกพิมพ์ด้วย อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ การปรับตั้งลูกเชื่อม (ลูกอินเตอร์มีเดีย) ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างลูกน้ำและลูกหมึกแตะเพลท ซึ่งโดยปกติมีหน้าที่ทำให้สมดุลระหว่างน้ำกับหมึกพิมพ์ในการพิมพ์ออฟเซตมีความเหมาะสมมากขึ้น หากมีการปรับตั้งลูกเชื่อมดังกล่าวไม่ดี อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน
ปัญหากระดาษติดผ้ายาง เกิดจากสาเหตุใด
กระดาษติดผ้ายาง เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผ้ายางและโมกดพิมพ์เป็นอย่างมาก ปัญหากระดาษติดผ้ายางสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุเบื้องต้นที่ควรพิจารณา คือ ความเหนียวของหมึกพิมพ์ หากหมึกพิมพ์ที่ใช้มีความเหนียวมากเกินไป จะทำให้กระดาษสามารถติดผ้ายางได้ง่าย เนื่องจากหมึกพิมพ์ที่เหนียวมากจะดึงกระดาษไว้ วิธีการแก้ไข คือ ควรมีการตรวจสอบความเหนียวของหมึกพิมพ์ให้มีความเหมาะสม นอกจากนี้การพิมพ์งานที่มีการปล่อยหมึกพิมพ์มากเกินไป จะเป็นเหตุให้กระดาษนั้นติดผ้ายางได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากต้องการพิมพ์ภาพพื้นทึบมากๆ ควรมีการผสมคอมปาวน์ เพื่อลดความเหนียวของหมึกพิมพ์ลง และสามารถปล่อยหมึกพิมพ์ได้บางลง ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ อีกสาเหตุหนึ่งคือ แรงจับยึดของกริปเปอร์จับกระดาษโมกดพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม ทำให้กริปเปอร์ไม่สามารถพากระดาษแยกออกมาจากโมผ้ายางได้ ซึ่งกริปเปอร์จับกระดาษโมกดพิมพ์จะมีการเสื่อมตามอายุการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากความสกปรกของตัวกริปเปอร์ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการจับกระดาษ การตรวจสอบกริปเปอร์และการบำรุงรักษากริปเปอร์ที่ดี จะสามารถช่วยลดปัญหาได้