การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 6

การลดต้นทุนเชิงวิศวกรรม สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 6 (Engineering cost reduction For the printing and packaging industry, part 6)

วิรัช เดชาสิริสิงห์
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต
wirach.ton@gmail.com

ในเนื้อหาฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงการดูแลรักษา ระบบเกียร์ ชุดเฟืองและเฟืองโซ่ และระบบส่งกำลังชนิดอื่น ๆ อีกที่ใช้ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ในฉบับนี้จะกล่าวถึงการดูแลรักษาระบบนิวเมติกและระบบไฮโดรลิค (Pneumatic and Hydraulic Preventive Maintenance Systems) ที่ติดตั้งและทำงานอยู่ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์

ในหัวข้อแรกที่จะอธิบายคือ ระบบนิวเมติก (Pneumatic Systems)

ระบบนิวเมติก หมายถึง ระบบที่ใช้อากาศอัดและส่งไปตามท่อทางอากาศอัดที่ได้ติดตั้งไว้ และอากาศอัดนี้ก็ไปทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ลมอัดทำงานได้ อธิบายง่าย ๆ ก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้ลมอัดจะเปลี่ยนพลังลมอัดที่เป็นของไหลที่มีแรงดันให้เป็นพลังงานกล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลมอัดไปใช้งานกับกระบอกลม ก็จะทำให้ก้านสูบกระบอกลมเลื่อนเข้า-ออกได้ หรือปล่อยให้ลมอัดไปเข้ามอเตอร์ลม ก็จะทำให้แกนมอเตอร์หมุนได้ เป็นต้น

การนำอากาศอัดมาใช้งานมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อก่อให้เกิดการทำงานอย่างอัตโนมัติ (Automation) และก่อให้เกิดการประหยัดแรงงานมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากระบบนิวเมติกมีจุดเด่นหลายประการคือ

  • โครงสร้างอุปกรณ์ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
  • ค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งในเครื่องจักร หรือระบบต่าง ๆ ไม่สูงมาก
  • สะดวกและง่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • จัดหาได้ง่าย

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบนิวเมติกจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตและปรับปรุงคุณภาพลมอัด
  2. อุปกรณ์ที่ใช้ส่งลมอัด
  3. อุปกรณ์ที่นำแรงลมอัดไปใช้งาน

อธิบายในหัวข้อที่ 1. อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตและปรับปรุงคุณภาพลมอัด

1.1 Air compressor

ทำหน้าที่อัดอากาศที่เป็นความดันบรรยากาศให้มีความดันสูงกว่าความดันปกติ อาจจะเป็น 3, 5, 10 บาร์ หรือเท่าไรก็ได้ตามความต้องการที่แท้จริงของอุปกรณ์ที่นำแรงลมอัดไปใช้ เช่น ต้องการใช้จริง 5 บาร์ การผลิตและจัดส่งไปให้อาจเป็น 7 หรือ 7.5 บาร์ เป็นต้น

 

รูปแสดง Air Compressor แบบสกรู (Screw Type)
รูปแสดง Air Compressor แบบลูกสูบ (Piston Type)

ในปัจจุบันปั๊มลมทั้งสองแบบนี้นิยมใช้กันมากในโรงงาน โรงพิมพ์ ซึ่งการที่จะทำให้ปั๊มลมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ชำรุดหรือหยุดทำงาน ต้องมีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามคู่มือที่กำหนดมา เพราะถ้ามีการดูแลและบำรุงรักษาอย่างไม่ถูกต้องหรือถูกวิธี หรือขาดการดูแล ก็จะส่งผลให้เครื่องจักรในโรงงานหรือโรงพิมพ์มีปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะถ้าลมอัดที่ส่งไป ส่งไม่สม่ำเสมอ แรงดันไม่ได้ มีน้ำปนไปหรือน้ำมันปนไปกับลมอัด ถ้าลมอัดนั้นส่งไปใช้งานเพื่อให้อุปกรณ์ทำงาน อุปกรณ์นั้น ๆ อาจทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจจะชำรุดเสียหายได้ แต่ถ้าลมอัดที่มีน้ำหรือน้ำมันปนไปและไปสัมผัสกับสินค้าโดยตรง ก็จะทำให้สินค้านั้น ๆ ชำรุดเสียหายได้

วิธีการดูแลรักษาให้ปั๊มลม (Air Compressor) ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พออธิบายได้ดังนี้

1. ต้องให้ตัวแทนจำหน่ายมาแนะนำวิธีการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างละเอียด พร้อมศึกษาวิธีการใช้งานและการดูแลรักษาตามคู่มือให้เข้าใจ ถ้าติดขัดก็สอบถามให้เข้าใจ

2. ส่วนสำคัญของปั๊มลมที่ต้องดูแลอย่าให้ขาดก็คือ น้ำมันหล่อลื่น ต้องใช้ให้ตรงเบอร์ คุณภาพต้องดี ระดับน้ำมันอย่าให้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด

รูปแสดงตำแหน่งดูระดับน้ำมันหล่อลื่นและระดับน้ำมันอยู่ในระดับที่ถูกต้อง

3. นอกจากดูระดับน้ำมันอยู่ในระดับที่ถูกต้องแล้ว ต้องตรวจหารอยรั่วซึมของน้ำมันบริเวณชุดปั๊มลม ถ้าตรวจพบต้องวางแผนในการแก้ไข

4. ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นให้ดูตามคู่มือ และใส้กรองน้ำมันหล่อลื่นก็เช่นเดียวกันให้เปลี่ยนตามคู่มือ เพราะถ้าแต่มองเรื่องความประหยัดมากเกินไป อาจส่งผลเสียกับปั๊มลมได้

5. ใส้กรองอากาศด้านลมดูดเข้า (Air Filter)ให้เป่าทำความสะอาดตามคู่มือที่กำหนด หรือถ้าอากาศบริเวณรอบๆปั๊มลมมีฝุ่นมาก ก็ทำการเป่าให้ถี่ขึ้นและเมื่อสังเกตุดูว่าควรเปลี่ยนใหม่ก็ต้องเปลี่ยน

6. ชุดแยกลมออกจากน้ำมัน (Air Oil Separator) ทำหน้าแยกลมออกจากน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งถูกติดตั้งอยู่ในปั๊มลมแบบสกรู ต้องเปลี่ยนตามคู่มือการใช้งาน เพราะถ้าใช้งานนานเกินไปอาจทำให้ปริมาณลมออกไม่สะดวกหรือแยกน้ำมันออกจากลมได้ไม่หมด

รูปแสดงชุด Air Oil Separator และการทำงานในการแยกลมออกจากน้ำมันหล่อลื่น

7. ชุด Oil Filter ให้เปลี่ยนตามระยะเวลาที่กำหนด และเลือกใช้ของที่มีคุณภาพดี และระยะเวลาในการเปลี่ยน ปกติจะเปลี่ยนพร้อมกับน้ำมันหล่อลื่น

8. ชุดสายพานหรือยอยสำหรับรับ-ส่งกำลังขับมาจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือต้นกำลังอื่นๆ ปกติตามคู่มือจะบอกให้เปลี่ยนตามระยะเวลาที่กำหนด หรืออาจเปลี่ยนตามสภาพก็ได้ โดยอาศัยประสบการณ์ และสายพานเมื่อใช้งานไปนานๆอาจต้องมีการปรับความตึงของสายพานด้วย

รูปแสดงการรับ-ส่งกำลังขับจากต้นกำลังไปยังชุดคอมเพรสเซอร์ แบบใช้สายพานและยอย

9. ชุด Oil Cooler สำหรับระบายความร้อนของน้ำมันหล่อลื่นของปั๊มลมแบบสกรู ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อให้น้ำมันหล่อลื่นมีอุณหภูมิลดลง เพราะในขณะทำงานน้ำมันจะร้อนมาก ชุด Oil Cooler จะช่วยให้อุณหภูมิอยู่ในช่วงที่กำหนด สำหรับการระบายความร้อนจะมีพัดลมไฟฟ้าติดประกบอยู่เพื่อดูดลมเย็นให้ไหลผ่านชุด Oil Cooler และต้องคอยหมั่นสังเกตุการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติต้องรีบหาสาเหตุและรีบแก้ไข และถ้าครีบหรือรังผึ้งด้านนอกของชุด Oil Cooler สกปรกมากต้องล้างด้วนน้ำยาพิเศษเพื่อช่วยให้การระบายความร้อนดีขึ้น และเมื่อใช้งานไปนานๆอุณหภูมิสูงกว่าปกติ อาจต้องมีการล้างคราบน้ำมันหรือสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ภายในท่อของชุด Oil Cooler โดยใช้น้ำยาพิเศษเช่นเดียวกัน (สอบถามตัวแทนจำหน่ายน้ำยาสำหรับล้าง หรือตัวแทนจำหน่ายปั๊มลมได้)

รูปแสดงไดอะแกรมการทำงานของ Screw Air Compressor และชุด Oil Cooler

10. ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ขับชุด Air Compressor ให้ทำงาน ต้องตรวจสอบการงานของมอเตอร์ว่ามีการทำงานที่เป็นปกติหรือไม่ เช่นมีเสียงดังจากชุดลูกปืนหรือไม่ ถ้ามีหูฟังเสียงก็ใช้ฟังเสียงที่เกิดขึ้นได้ ถ้าสรุปได้ว่าต้องเปลี่ยนชุดลูกปืนก็ต้องดำเนินการ และถ้าเป็นมอเตอร์ที่มีขนาดใหญ่และมีหัวอัดจารบี ต้องอัดจารบีตามคู่มือกำหนด

1.2 Air Compressor Dryer

หรือเครื่องทำลมแห้ง คือเครื่องที่มีหน้าที่ทำงานควบคู่ไปกับ Air Compressor มีหน้าที่หลักในการลดอุณหภูมิ ปริมาณน้ำและความชื้นที่ปนมากับลมอัด เพื่อให้ได้ลมที่สะอาดปราศจากความชื้นและมีอุณภูมิต่ำ เพื่อนำไปใช้งานต่อได้อย่างสมบูรณ์

รูปแสดงตำแหน่งติดตั้งชุด Air Dryer บริเวณห้องผลิตลมอัด

วิธีการดูแล และบำรุงรักษาชุด Air Dryer พอจะอธิบายได้ตามนี้

1. การดูแลชุด Air Dryer มีความสำคัญในระบบลมมาก เพราะถ้าดูแลรักษาไม่ดี เครื่องชำรุดและเสียหาย ก็จะส่งผลให้คุณภาพของลมที่จะนำไปใช้งานมีคุณภาพไม่ดีและจะส่งผลต่ออุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องจักร ทำให้อุปกรณ์ต่างๆทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพหรือชำรุดเสียหายตามไปด้วย

2. ต้องให้ตัวแทนจำหน่ายมาแนะนำวิธีการใช้งานและการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง พร้อมศึกษาการใช้งานและการดูแลรักษาจากคู่มือควบคู่กันไป

3. ในขณะที่ชุด Air Dryer ทำงาน ต้องสังเกตุว่ามีการทำงานเป็นปกติหรือไม่ มีการระบายน้ำ,น้ำมัน ผ่าน Auto Drain Valve หรือไม่ ถ้ามีจะแสดงว่าระบบทำงานเป็นปกติ โดยการระบายนี้จะเป็นจังหวะที่สัมพันธ์กันกับการทำงานของปั๊มลมที่ต่อหรือตัดการทำงาน

4. ในขณะเดียวกันถ้าไม่เห็นการระบายอากาศ น้ำ หรือน้ำมัน ผ่าน Auto Drain Valve ออกมาเลย ให้ตรวจสอบชุดวาล์ว ท่อ ภายในชุด Air Dryer ว่ามีการอุดตัน หรือวาล์วที่เป็นวาล์วไฟฟ้าชำรุดเสียหายหรือไม่ (ก่อนตรวจสอบต้องสลับทิศทางการไหลของลมที่ออกมาจาก Air Compressor ก่อน ไม่ให้มีลมอัดไหลผ่านมาที่ชุด Air Dryer ที่มีปัญหาอยู่ ซึ่งตามปกติ จะออกแบบให้ Air Dryer มีมากกว่า 1 ชุด เพื่อสลับทำงานกันได้) เมื่อพบปัญหาให้แก้ไขให้ถูกต้อง

รูปแสดง Auto Drain Valves แบบต่างๆที่ใช้ในระบบลมอัด

5. ระบบน้ำยาทำความเย็นที่อยู่ในระบบปกติจะไม่รั่วไหลไปไหน ยกเว้นว่ามีท่อหรืออุปกรณ์บางตัวชำรุด (ชุด Air Dryer ที่ใช้น้ำยา Refrigerant) ถ้าพบให้ดำเนินการแก้ไขแล้วเติมน้ำยาทำความเย็นเข้าไปใหม่และทดสอบเดินเครื่องให้ทุกอย่างทำงานเป็นปกติ

6. ชุดคอยล์ระบายความร้อนต้องสังเกตุอย่าให้มีฝุ่นมาเกาะและควรใช้ลมเป่าให้สะอาด และพัดลมไฟฟ้าต้องตรวจว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ ถ้าทำงานผิดปกติให้แก้ไขให้เหมือนเดิม

7. สำหรับการออกแบบและติดตั้งในครั้งแรกของชุด Air Compressor และ Air Dryer จะมีขนาดที่สัมพันธ์กัน ถ้าใช้งานไปนานๆ โหลดใช้ลมอาจเพิ่มขึ้นเพราะมีการเพิ่มเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ที่มีใช้ลมมากขึ้น และมีการเพิ่ม Air Compressor หรือ Air Dryer แต่ขนาดอาจไม่สัมพันธ์กัน ต้องเช็คความถูกต้อง เพราะอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพของลมที่ส่งออกมาใช้งานได้

1.3 ชุด Main Line Air Filter

ทำหน้ากรองสิ่งสกปรกที่ติดมากับลมอัดหรือความชื้นและน้ำมัน หรือน้ำที่หลงเหลืออยู่ในระบบ ปกติชุด Main Line Air Filter นี้จะติดตั้งจำนวน 2 ชุด ตัวแรกไส้กรองจะหยาบประมาณ 5-25 Micron ตัวที่ 2 จะเป็นกรองละเอียด ประมาณ 0.1-0.01 Micron ในปัจจุบันมีรุ่นที่มีใส้กรองหยาบและละเอียดอยู่ในตัวเดียวกันด้วย

รูปแสดง Main Line Air Filter และตำแหน่งติดตั้งในห้องผลิตลมอัด

วิธีการดูแลรักษา ชุด Main Line Air Filter มีดังนี้

1. ในการติดตั้งและเดินท่อลม พร้อมติดตั้งชุด Main Line Air Filter จะต้องติดตั้ง Pressure Gauge ก่อนและหลังชุด Main Line Air Filter เพื่อไว้เปรียบเทียบแรงดันลมก่อนเข้า และหลังออกจากจากชุดกรอง ถ้าในขณะใช้งาน แรงดันที่หน้าปัทม์ Pressure Gauge ทั้งสองชุดเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมาก แสดงว่าชุดไส้กรองปกติดี แต่ถ้าแรงดันด้านเข้าสูงกว่าด้านออกมาก แสดงว่าไส้กรองตันหรือสกปรกมากแล้วถึงเวลาต้องเปลี่ยนใหม่

รูปแสดงการติดตั้ง Pressure Gauge ก่อนลมอัดเข้า Main Line Air Filter และหลังผ่าน Main Line Air Filter

2. ชุด Main Line Air Filter ที่มีชุด Auto Drain ติดอยู่ด้านล่าง ต้องหมั่นคอยสังเกตุดูว่ามีการทำงานปล่อยน้ำ อากาศปนน้ำและน้ำมันออกมาหรือไม่ ถ้าไม่ทำงานเลย อาจมีสิ่งสกปรกอุดตัน ต้องถอดออกมาล้างทำความสะอาดและตรวจเช็คว่ามีชิ้นส่วนทำงานไม่สมบูรณ์หรือชำรุดหรือไม่ ถ้าซ่อมไม่ได้ต้องเปลี่ยนใหม่

รูปแสดง Main Line Air Filter ที่มีชุด Auto Drain ติดตั้งอยู่ด้วย

3. ในขณะจะเปลี่ยนใส้กรองใหม่ ควรระมัดระวังอย่าใส่สลับชุดกันระหว่างใส้กรองหยาบและละเอียด เพราะจะทำให้ใส้กรองละเอียดเกิดการอุดตันเร็ว

4. จำนวนสต็อกไส้กรองควรมีไว้อย่างเพียงพอสำหรับการเปลี่ยนในครั้งต่อไป

5. ถ้าไส้กรองที่ใช้งานตันเร็วกว่าปกติโดยดูจากแรงดันจาก Pressure Gauge ที่เปรียบเทียบกัน (จากข้อ 1.) ต้องตรวจหาสาเหตุจากปั๊มลมและชุดทำอากาศแห้งว่ามีอะไรชำรุดหรือทำงานผิดปกติหรือไม่

1.4.ชุดถังพักลม (Air Storage/Receiver Tank)

1. ชุดถังพักลม (Air Storage/Receiver Tank) ทำจากเหล็กกล้า SS400 สำหรับถังรับแรงดัน (Pressue Vessel) มีหน้าที่เก็บลมที่มีแรงดันให้คงที่อยู่เสมอ และยังช่วยระบายน้ำที่ติดมากับลมอีกด้วย

2. ชุดถังพักลมจะประกอบไปด้วย เกจวัดแรงดัน (Pressure Gauge) ,ลิ้นหรือวาล์วนิรภัย (Safety Valve) ,วาล์วปล่อยน้ำ (Auto Drain/Air Trap Valve) ,ช่องตรวจสภาพภายในถัง (Man Hole) และวาล์วควบคุม ปิด-เปิดลม

3. สำหรับขนาดของถังพักลมควรมีปริมาตรในการเก็บลมได้ 8-10 เท่าของปริมาณที่ปั๊มลมผลิตลมอัดได้ภายใน 1 วินาที และเผื่อขนาดเตรียมไว้สำหรับการขยายงานในอนาคตอีก 30-40 เปอร์เซนต์ (ถังลมมีราคาไม่แพงมาก) ถ้าเผื่อขนาดได้ก็ควรเผื่อไว้เลย และยังมีข้อดีอีกอย่างก็คือเวลาเครื่องจักรเปิดเครื่องพร้อมกันลมสำรองที่มีอยู่ในถังก็จะจ่ายไปให้โดยไม่ทำให้ลมในระบบกระเพื่อม และเมื่อใช้งานไปได้สักระยะประมาณ 3 ปี ควรทดสอบความปลอดภัยของถังพักลมในวิธีการที่เรียกว่า Hydrostatics Test

รูปแสดงถังพักลม (Air Storage/Receiver Tank)

วิธีการดูแลรักษาถังพักลม (Air Storage / Receiver Tank) มีดังนี้

1. ตำแหน่งที่ติดตั้งควรอยู่ในที่ร่ม ไม่ให้มีแดดแรงๆหรือฝนสาดได้ เพระจะทำให้ภายนอกถังที่ทำสีไว้จะชำรุดได้ง่าย และอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้กับถังก็จะชำรุดได้ง่ายเช่นเดียวกัน เช่น วาล์ว ,เซฟตี้วาล์ว, Pressure Gauge, Auto Drain Valve,ประเก็นยางบริเวณช่อง Man Hole เป็นต้น

2. ตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น วาล์ว, เกจวัดแรงดัน, ชุด Auto Drain, ตรวจหารอยรั่วซึมบริเวณประเก็น Man Hole และตรวจสอบการทำงานของชุด เซฟตี้วาล์ว โดยปิดวาล์วที่ควบคุมลมเข้าถังและปล่อยลมให้ออกหมดถังเพื่อความปลอดภัย จากนั้นปรับสปริงที่ตัวเซฟตี้วาล์วให้อ่อนลงประมาณ 10-20 % จากความแข็งปกติ (ก่อนทำให้จดค่าที่ Pressure Gauge ในช่วงที่ทำงานปกติว่าเป็นเท่าไรก่อน) หลังจากปรับแล้ว ให้เปิดวาล์วให้ลมเข้าถัง จากนั้นคอยตรวจดูว่าชุดเซฟตี้วาล์วทำงานระบายลมออกก่อนถึงค่าแรงดันที่เราได้จดค่าไว้หรือไม่ เช่นค่าที่จดไว้ แรงดัน 7 บาร์ ชุดวาล์วจะต้องทำงานก่อน 7 บาร์ ถ้าชุดวาล์วทำงานที่ความดัน 5 หรือ 6 บาร์ แสดงว่าระบบของตัววาล์วทำงานปกติ จากนั้นปรับสปริงที่ชุดเซฟตี้วาล์วให้แข็งขึ้นเล็กน้อย ชุดเซฟตี้วาล์วจะเปิดระบายลมออกที่แรงดันมากกว่า 5-6 บาร์ อาจเป็น 6.5-7บาร์ ถ้าเปิดที่ 7 บาร์แสดงว่าความแข็งของสปริงและแรงดันลมเท่ากัน (เป็นการเทียบค่า) จากนั้นให้ปรับให้สปริงแข็งขึ้นเล็กน้อย แล้วปรับเพิ่มแรงดันลมเล็กน้อยที่ปั๊มลมเช่นเดียวกัน และทดสอบดู ถ้าชุดเซฟตี้วาล์วเปิดระบายลมออกที่แรงดัน 7.5-7.8 บาร์ ก็ถือว่าใช้ได้ จากนั้นปรับแรงดันลมลงให้ผลิตที่แรงดัน 7 บาร์ และล็อกนัตสำหรับปรับชุดสปริงให้แน่นก็จะเสร็จสิ้นการตรวจสอบการทำงานของเซฟตี้วาล์ว แต่ถ้าการทำงานของเซฟตี้วาล์วไม่เหมือนกับขั้นตอนตามที่อธิบายมา ให้เปลี่ยนเซฟตี้วาล์วชุดใหม่และทดสอบการทำงานตามขั้นตอนตามที่ได้อธิบายมาข้างต้น

3. เปิด Man Hole แล้วใช้ไฟฉายส่องดูสภาพภายในถังว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดปกติให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ผลิตถัง เพื่อให้เกิดความแน่ใจ และประเก็นที่บริเวณชุด Man Hole ควรเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง เมื่อมีการเปิดชุด Man Hole

อ่านต่อฉบับหน้า


ข้อมูลอ้างอิง
• ตามประสบการณ์จริงของผู้เขียน
เครดิตภาพประกอบ
• https://image.made-in-china.com/2f0j00DboUnpkYZIcJ/Medical-Oil-Free-Screw-Compressor.jpg
• http://www.adv-forward.com/default.aspx?pageid=105
• https://www.anonaauto.com/products/piston-air-compressor/
• https://www.compressorwale.com/difference-between-screw-and-reciprocating-air-compressors.html
• https://www.indiamart.com/proddetail/air-oil-separator-for-ingersoll-rand-screw-compressor-17182345873.html
• http://www.adv-forward.com/upload/images/Image/air-oil%20sep2.jpg
• http://image.ec21.com/company/y/yu/yuj/yujincomp2/upimg/04_01.jpg
• https://docplayer.com.br/docs-images/75/72575753/images/39-0.jpg
• https://brownlowradiators.com/wp-content/uploads/2018/03/combi1.jpg
• https://lh3.googleusercontent.com/proxy/ggPLfkmD70vYdAdaB7Y5Dh87ZBVbP5oT8p8GBnXdi7M7Qu-Q9QyuB87QYBWdjCEaUx9C3ASOtSDx4EeAkkYt2zTuwQpzBc6t0GDk0HyhBpVi-9anAEjheXZU-VEXAbNTYSuU9fSHamlO
• https://aecfilterparts.ran4u.com/userfiles2/directUpload/skin/aecfilterparts_36689/etc/15-4.png
• https://5.imimg.com/data5/SS/NU/MY-13726020/500-l-air-receiver-tank-500×500.jpg

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า