ภคภรณ์ ภัคสุขชัย (เกรซ) บริษัท ฟอยล์มาสเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

ภคภรณ์ ภัคสุขชัย (เกรซ)
บริษัท ฟอยล์มาสเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

บทบาทหน้าที่ นอกเหนือจากการช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวแล้ว อีกบทบาทหน้าที่หนึ่งของเธอคือ การเป็นนายกสมาคม Edinburgh University Thai Society ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารธุรกิจของคุณภคภรณ์ ภัคสุขชัย หรือเกรซ หนึ่งในสมาชิก Young Printer Group ของสมาคมการพิมพ์ไทย ที่วารสาร Thai Print ได้รับเกียรติจากคุณเกรซมาถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ต่าง ๆ ของตัวเธอเอง ให้ท่านสมาชิกและผู้อ่านได้นำแนวทางไปปรับเพื่อประยุกต์ใช้ได้ไม่มากก็น้อย

เกรซ เป็นลูกคนสุดท้องของ คุณชิณโชติ และ คุณอรวรรณ ภัคสุขชัย เรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ (Harrow International School) และได้ต่อการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) ในประเทศสก็อตแลนด์ ทางด้าน MA (Hons) Business with Innovation and Enterprise โดยปัจจุบันร่วมงานกันกับพี่ชาย (คุณชุณหพัชร ภัคสุขชัย) ศึกษาจาก University of Edinburgh ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในบริษัทฟอยล์มาสเตอร์ และพี่สาว (คุณอริศรา ภัคสุขชัย) ศึกษาด้านสัตวแพทย์ จาก University of Bristol

ในช่วงที่เรียนอยู่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น Junior Achievement ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้างความพร้อมทางด้านความคิดเชิงธุรกิจ โดยผู้เข้าร่วมจะต้องตอบโจทย์ต่างๆที่ได้รับมา อย่างเช่นการเขียน business plan และการคิด prototype ไปจนถึงการ launch และ sales execution ของสินค้า และในช่วงมหาลัยฯ ได้เข้าร่วมในทีมมาร์เก็ตติ้งของ AIESEC Edinburgh โดยองค์กร AIESEC เป็นองค์กรที่ถูกนำและปฏิบัติการโดยนักเรียนล้วน เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้นักเรียนที่มาสมัครได้รับประสบการณ์ทำงาน ทั้งยังได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ รอบโลกอีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดความสนใจในการทำธุรกิจเป็นต้นมา

ช่วงเรียนต่อเป็นช่วงที่ทำให้ฉุกคิดได้ว่าการทำธุรกิจนั้นต้องทำงานร่วมกันกับคนหลากหลายประเภท ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นความไม่ถนัดอย่างหนึ่ง โชคดีที่การได้มีส่วนร่วมใน Edinburgh University Thai Society เป็นระยะเวลา 4 ปีนั้นได้ช่วยสอนการเป็นผู้นำและผู้ตามอย่างมาก โดยเกรซได้เข้าร่วมสมาคมนี้ตั้งแต่ปี 1 และรับหน้าที่ให้ช่วยงานเตรียมการเล็ก ๆ และฝึกรำไทยเพื่อไปแสดงในงานประจำปี พอจบปี 2 ก็ได้เข้าใจกลไกการทำงานของสมาคมนี้มากขึ้น จึงเป็นเหตุทำให้เพื่อน ๆ ผลักดันให้สมัครเป็นนายกสมาคม จริง ๆ แล้วเกรซไม่ได้ต้องการตำแหน่งแนวนี้เพราะเป็นคนที่ไม่ถนัดในการเป็นผู้นำให้กับกลุ่มคนหรือองค์กร จึงได้ลงสมัครเลือกตั้งแบบกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะอยู่นอก comfort zone ของเกรซมาก ๆ

การได้เป็นนายกสมาคม Edinburgh University Thai Society นั้นทำให้ได้บทเรียนนอกห้องเรียน​มากมาย เช่นการทำงานกับผู้คนที่เข้ามาติดต่อ รวมไปถึงการเจรจาชักชวนองค์กรภายนอกเข้ามาร่วมสนับสนุนทุน มีหลายครั้งที่ท้อและเหนื่อยกับงานที่เข้ามาเพราะไม่สามารถแจกจ่ายงานอย่างมีประสิทธิภาพ บวกกับการที่ต้องรับมือกับการเมืองทั้งภายในและภายนอก ทำให้เกรซรู้ตัวว่าเรายังไม่พร้อมรับมือกับการเอาเปรียบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดีมาก ๆ เพราะเป็นการสร้างความพร้อมได้ดี

ในช่วงมัธยมเกรซได้ใช้โอกาสทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่างๆมากมาย ได้เรียนรู้ว่าชอบและไม่ชอบอะไรในกิจกรรมต่าง ๆ เกรซช่วยเพื่อนทำขนมขายภายในโรงเรียนเพื่อนำเงินไปบริจาค โดยที่เกรซเองจะเน้นไปทางออกแบบทำแพคเกจจิ้งกับโปรโมทผ่านสื่อมากกว่าการทำขนม เพราะคิดว่าเพื่อนน่าจะทำออกมาได้น่าทานกว่า จากนั้นก็ได้เข้าร่วม Sixth Form Charity Committee เพื่อหาเงินไปบริจาคให้แก่มูลนิธิ Operation Smile เพื่อสมทบทุนการผ่าตัดให้แก่น้องๆที่ปากแหว่งเพดานโหว่ และได้ไปช่วยสร้างโรงเรียนกับโครงการ Habitat for Humanity ที่ภูเก็ตและเชียงราย โดยลงมือดัดลวด ผสมปูน ก่ออิฐ จนเสร็จออกมาเป็นโครงอาคาร

เกรซพร้อมเปิดรับและยอมรับในสิ่งใหม่ ๆ ถึงแม้จะเป็นคนที่ไม่ได้ชอบการออกกำลังกาย แต่ในเวลาว่างก็จะออกไปหาประสบการณ์และกิจกรรมทำกับเพื่อน ๆ อย่างเช่น ไปยิงธนู ปาเป้า ปีนเขา หรือปั้นเครื่องดินเผาเป็นต้น ชอบการวาดรูป ร้องเพลง และแต่งกลอน ส่วนตัวแล้วคิดว่าการที่ได้เขียนอะไรออกมาให้เป็นรูปธรรมสามารถทำให้เข้าใจความคิดและอารมณ์ของตนเองในขณะนั้น ๆ ได้มากขึ้น และเป็นการเคลียร์ความคิดให้ว่าง พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องเจอในวันถัดไป

ความเป็นมาของบริษัท

ในด้านของบริษัทนั้น บริษัท ฟอยล์มาสเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อตั้งโดยคุณพ่อและคุณแม่ในปี 1987 ด้วยความที่คุณพ่อมีประสบการณ์ขายหมึกพิมพ์ และครอบครัวฝั่งคุณแม่ทำโรงพิมพ์ การนำฟอยล์เข้ามาขายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวสำหรับทั้งสองเลย ในยุคสมัยนั้นการปั๊มฟอยล์ยังไม่ได้แพร่หลายในวงการพิมพ์และยังใช้ชื่อเรียกว่าการเคทอง ซึ่งหมายถึง การนำทองแท้มาใช้ (gold leaf) ไม่ใช่อลูมิเนียมเหมือนในปัจจุบัน

ฟอยล์สามารถสร้างความโดดเด่นและเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งพิมพ์ได้ ทางบริษัทจึงได้คัดสรรฟอยล์และสินค้าต่าง ๆ จากหลายประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดไทยที่อยากได้ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมมากขึ้น เรามีการควบคุมคุณภาพด้วยระบบ ISO 9000:2015 รวมไปถึงการบริการที่ดีเยี่ยม จัดส่งรวดเร็วทันใจ สามารถให้คำแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับการเลือกใช้ฟอยล์ให้ตรงกับงานพิมพ์ได้ จึงทำให้ชื่อเสียงของฟอยล์มาสเตอร์เป็นที่ยอมรับในตลาดอาเซียน

จุดเริ่มต้นของการทำงาน และหน้าที่รับผิดชอบ

เพราะได้เติบโตมากับธุระกิจฟอยล์และโรงพิมพ์ของทางฝั่งแม่ตั้งแต่สมัยประถม จึงทำให้รู้สึกคุ้นเคยกับธุรกิจนี้พอสมควร แต่กว่าจะเข้าใจอะไรจริง ๆ น่าจะเป็นตอนที่อยู่ม.สี่ ที่เริ่มติดตามคุณพ่อไปเข้าร่วมประชุมและชมงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ หลังจากนั้นในช่วงปิดเทอมก็มีเข้ามาช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการทำโปรเจคสั้น ๆ และเตรียมงานเพื่อออกบูธในงาน Pack Print International ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ตอนเรียนอยู่ปีสี่ที่เอดินบะระได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมที่ปรึกษาด้านมาร์เก็ตติ้งให้แก่บริษัท Retromixer ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจำหน่ายชิ้นอะไหล่เพื่อแก้ pain point ของก๊อกน้ำร้อนและน้ำเย็นที่อยู่แยกกันสองฝั่ง โดยได้นำเนื้อหาที่เรียนมาประยุกต์ใช้และฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมเป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่เรียนจบก็ได้กลับเข้ามาสานต่อธุรกิจที่บ้านทันที ได้เข้ามาเรียนรู้งานในแต่ละแผนก และทำความรู้จักกับพี่ ๆ ที่ทำงานให้สนิทกันมากขึ้น ปัจจุบันมีหน้าที่ดูแลภาพรวมงานภายในบริษัทร่วมกับพี่ชายในส่วนฝ่ายขายและจัดซื้อต่างประเทศเป็นหลัก

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงาน / แนวทางในการแก้ไข

ที่เห็นชัดสุดก็คงจะเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัยและมุมมองความคิดที่ต่าง โดยคนที่เกิดในยุค Baby Boomers มักให้ความสำคัญกับความขยันและความอดทนในการทำงานเพราะตนได้สัมผัสความยากลำบากในยุคที่ผ่านมาโดยตรง ส่วนคนรุ่นใหม่นั้นอาจมองว่าเราต้อง “work smart, not work hard” และด้วยความที่แต่ละฝ่ายใช้เกณฑ์ในการวัดและมีเป้าหมายการทำงานที่ไม่เหมือนกันโดยคนรุ่นเก่าอาจให้ความสำคัญกับงานเป็นหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ต้องการรักษาความสมดุลในชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว จึงทำให้เกิดความขัดแย้งหลาย ๆ เรื่องในการทำงาน
ซึ่งการที่จะพลิกความขัดแย้งนี้ให้มาเป็นโอกาสได้ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายก็ตาม ต่างฝ่ายจะต้องพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในส่วนของมุมมองที่แตกต่าง หาจุดยืนตรงกลางที่สองฝ่ายสามารถร่วมยอมรับได้ อย่างตัวเกรซเองก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ได้ก็เพราะแนวทางและการปฏิบัติงานที่สร้างมาโดยคนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้นจึงพยายามเรียนรู้วิธีคิดของคนรุ่นก่อน และหาคำตอบว่าเหตุใดเขาถึงมีความคิดแตกต่างจากเรา เพื่อให้ได้เข้าใจในข้อดีที่อาจมองข้ามไปและค่อย ๆ ปรับความคิดและพัฒนาเข้าหากัน

เป้าหมายการทำงานในปัจจุบัน

คงเป็นการเน้นพัฒนา Corporate Culture และวิธีการทำงานภายในบริษัทให้พนักงานได้สนุกกับการทำงานและให้งานที่ทำมีความหมายมากยิ่งขึ้น การตั้งเป้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งในมูลภาพที่ใหญ่กว่านั้นเพราะว่าเป้ามักถูกเคลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ตามเวลาและหลาย ๆ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่การเน้นสร้าง Internal Environment ให้น่าอยู่และเป็นที่พึงพอใจเพื่อให้เป็นฐานรองรับเป้าที่ตามมาน่าจะตอบโจทย์มากกว่า

เช่นเดียวกันกับธุรกิจโรงพิมพ์หลาย ๆ โรงที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว Core Culture ของบริษัท ฟอยล์มาสเตอร์ ก็คือ ความที่ทุกคนในองค์กรเปรียบเสมือนเป็นหนึ่งครอบครัวเดียวกัน และจะมีความแตกต่างจาก non-family businesses ตรงที่โครงสร้างองค์กรนั้นค่อนข้างเรียบ ลูกน้องสามารถเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงได้อย่างสะดวกสบาย ส่งผลให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงานมากยิ่งขึ้นเพราะทุกคนมีเป้าหมายไปในทางเดียวกัน มองว่าธุรกิจครอบครัวมีจุดเด่นที่มีความได้เปรียบและน่าสนใจ และอยากนำจุดเด่นตรงนี้ไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

เชื่อว่าคนในยุคสมัยนี้ต้องการให้งานตอบโจทย์ในหลายๆแง่ของชีวิต และไม่ได้มองการทำงานเป็นเพียงหน้าที่ในวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่งานเป็นสนามฝึกที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อนำไปใช้ในการผลักดันสังคมให้เปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น เกรซจึงมีความมุ่งมั่นที่จะปรับ culture ในบริษัทฯ เพื่อให้บุคคลที่มาร่วมงานได้สัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้

แนวคิด หรือคติในการทำงาน

การทำงานควรเป็นการสร้างผลประโยชน์แทนที่จะเป็นการแสวงหาผลประกอบการหรือการเติบโตในตลาด เพราะสิ่งดังกล่าวไม่ควรเป็นแก่นของการใช้ชีวิต การกอบโกยในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากจะปลูกฝังให้ผู้คนและสังคมสร้างความยึดติดที่มีแต่จะบั่นทอนแล้ว เราไม่สามารถนำอะไรเหล่านี้ไปได้เลยเวลาตายจากโลกนี้ไป สิ่งเดียวที่จริงแท้และยั่งยืนคือการส่งต่อซึ่งผลแห่งการกระทำของเราไว้ ความสัมพันธ์ ความปรองดอง รวมไปถึงการที่เราได้ทำในสิ่งที่เชื่อมั่นว่าดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและคนรอบข้างสำคัญที่สุด การที่ได้เห็นพนักงานทำงานด้วยกันอย่างมีความสุขจึงถือเป็นความสุขสูงสุดในการทำงานของเกรซ

มุมมองอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

เมื่อพูดถึงอนาคตที่กำลังก้าวเข้ามา ก็อดที่จะพูดถึง Digital Disruption ไม่ได้เลย หลายๆอย่างที่เคยทำมาในอดีต กลายเป็นว่าตอนนี้ถูกมองว่าไม่ทันสมัยไปแล้ว ทุกๆอย่างถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนบางทีเราอาจปรับเปลี่ยนไม่ทัน เราจึงต้องมุ่งที่จะก้าวให้ไกลกว่าปัจจุบันอย่างน้อยสักสามสี่ก้าวเพื่อเผื่อเวลาไม่ให้ถูก disrupt

เกรซสังเกตว่าคนเราพอยิ่งมีอายุมากขึ้น ได้ผ่านอะไรมามาก ๆ ก็จะสะสมความหวาดระแวงเยอะขึ้นเรื่อย ๆ และความกล้าที่จะเสี่ยงกับอะไรสักอย่างมักจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสมัยวัยเด็ก ก็พอเข้าใจได้ เพราะเราคงมีอะไรที่จะเสียมากขึ้นเช่นกัน แต่มองว่าในความที่ไม่กล้าเสี่ยงนั้น แอบแฝงความสูญเสียโอกาสที่จะนำพาไปสู่จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ได้

ซึ่งถ้าโยงกลับมาที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย เปรียบเสมือนการแข่งที่เริ่มแรกเป็นการวิ่งระยะยาว แต่สักพักก็มีด่านอุปสรรคเหนือความคาดหมาย เช่น ด่านกระโดด บังคับให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือและทักษะของผู้เข้าแข่ง หากผู้แข่งจะมองว่าตัวเองมาวิ่งอย่างเดียว แก้ปัญหาภายในขอบเขตเดิม ตอบโจทย์เดิม ๆ ที่เคยสำเร็จมา ผู้แข่งนั้นจะไม่มีทางข้ามอุปสรรคไปสู่เส้นชัยได้เลย

เกรซมองว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยยังคงไปได้อีกไกล เพียงแต่เราจะต้องหาจุดแข็งและจุดเด่นของเราให้เจอ นำมันมาพัฒนาและสรรหาสิ่งใหม่ๆเข้ามาเสริมมาต่อยอด แล้วเราก็จะกลับมาสนุกกับการแข่งขันอีกครั้ง

เข้ามาเป็นสมาชิก Young Printer Group ได้อย่างไร

แรกสุดเลยเป็นตั่วกู๋ (คุณพรชัย รัตนชัยกานนท์) ที่พาไปลงทะเบียนที่บูธสมาคมในงาน Pack Print International 2011 แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใดๆเท่าไหร่เพราะตอนนั้นก็ยังยุ่งอยู่กับการเรียนและบินกลับมาที่ไทยเป็นระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ต่อมาพอเรียนจบตอนกลางปี 2018 เฮียปิง (คุณวรพล ภัคสุขชัย) ก็ได้ชักชวนเข้ากลุ่ม YPG และได้ไปเข้าร่วมเยี่ยมชมโรงงานและทำกิจกรรม CSR ต่าง ๆ กับทางสมาคม

หน้าที่และบทบาทในกลุ่ม Young Printer

ตอนนี้เกรซยังไม่มีบทบาทในกลุ่ม Young Printer มากเท่าไหร่ เพียงแต่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมที่พี่ ๆ ในสมาคมได้จัดมา อย่างเช่น ทริปไปเยี่ยมชมธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท บางเลนเปเปอร์มิลล์ บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ และร่วมบริจาคสิ่งของที่มูลนิธิบ้านครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษ มีความคิดว่าในอนาคตอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมงาน CSR เพราะชอบในงานด้านนี้และสนุกกับการที่ได้ไปช่วยสังคมร่วมกันกับเพื่อน ๆ

สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม Young Printer

การที่เข้ากลุ่ม Young Printer ทำให้ได้เพื่อนและรู้จักคนเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์หลายอย่าง ทำให้รู้สึกมีกำลังใจเวลาพบเจอปัญหา เพราะรู้ว่าปัญหาที่เรากำลังเจออยู่ไม่ใช่อะไรที่พิเศษหรือใหญ่โตเกินแก้ มีพี่ ๆ คอยให้คำปรึกษาอยู่เสมอ อย่างเวลาไปงานแสดงสินค้าก็จะมีพี่ ๆ จากบริษัทฯ อื่นไปด้วย ทำให้สนุกและไม่เหงาเพราะมีกลุ่มวัยรุ่นไปด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า