สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต การสร้างเม็ดสกรีนในการพิมพ์ออฟเซต

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต
การสร้างเม็ดสกรีนในการพิมพ์ออฟเซต

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริหัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีanan.tanwilai@gmail.com

การสร้างภาพในกระบวนการพิมพ์นั้น ในอดีตจะเกิดจากการถ่ายทอดภาพจากต้นฉบับที่มาจากรูปถ่ายหรือฟิล์มสไลด์สีมาสู่กระบวนการสร้างเม็ดสกรีนลงบนแม่พิมพ์ ปัจจุบันต้นฉบับทางการพิมพ์จะมาจากกระบวนการสร้างภาพโดยระบบดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูปดิจิทัล การสร้างตัวอักษรและภาพกราฟิคต่างๆ จากโปรแกรม Adobe Photoshop, Adobe Illustrator หรือ Adobe Indesign ทำให้กระบวนการสร้างภาพมีความสมบูรณ์และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะอธิบายถึงกระบวนการสร้างเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ออฟเซตและความสำคัญของการปรู๊ฟสีงานพิมพ์

การสร้างเม็ดสกรีนและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

กระบวนการสร้างเม็ดสกรีน เป็นการสร้างเซลล์ของเม็ดสกรีน (Halftone cell) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มจุดภาพที่สร้างด้วยอุปกรณ์ส่งออกเข้าด้วยกัน ซึ่งกระบวนการสร้างเม็ดสกรีนนี้เรียกว่า กระบวนการ

ไดเธอร์ริง (Dithering process) ภาษามาตรฐานที่ใช้กำหนดข้อมูลการสร้างเม็ดสกรีนจากข้อมูลของระดับสีเทา คือ ภาษาโพสต์สคริปต์ (Post Script)

จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงการสร้างเม็ดสกรีนด้วยระบบดิจิทัล ความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนจะถูกกำหนดในรูปแบบของจำนวนจุดต่อนิ้ว (Dot per inch, Dpi) ซึ่งความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนและระยะเวลาที่ใช้ในการสร้าง ยกตัวอย่างเช่น เม็ดสกรีนที่สร้างด้วยความละเอียด 1200 dpi จะมีความละเอียดในการสร้างเม็ดสกรีนสูงกว่า เม็ดสกรีนที่สร้างด้วยความละเอียด 600 dpi แต่ระยะเวลาในการสร้างจะใช้ระยะเวลานานกว่า
ในการสร้างเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ออฟเซตนั้น จะต้องมีการแปลงภาษาโพสต์สคริปต์ให้เป็นข้อมูลบิตแมป ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้แปลงข้อมูลของภาษาโพสต์สคริปต์ให้เป็นข้อมูลบิตแมป เรียกว่า ราสเทอร์อิมเมจโพรเซสเซอร์ (Raster Image Processor, RIP) โดยภาษาโพสต์สคริปต์ที่ใช้ต้องมีการกำหนดลักษณะต่างๆ ของเม็ดสกรีนได้ด้วย เช่น รูปแบบเม็ดสกรีน รูปร่างเม็ดสกรีน จำนวนเส้นสกรีนและมุมสกรีน

จากภาพที่ 2 RIP คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการแปลงข้อมูล และเชื่อมต่อไปยังเครื่องดิจิทัลปรู๊ฟและเครื่องทำแม่พิมพ์ (Platesetter) ในระบบ Computer to plate ที่ใช้งานในปัจจุบัน สำหรับอุปกรณ์ RIP จะมีส่วนประกอบจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ ฮาร์ดแวร์ RIP และ ซอฟต์แวร์ RIP โดยในการพิจารณาเลือกฮาร์ดแวร์ RIP จะพิจารณาจากความสามารถในการเก็บข้อมูล ความเร็วในการประมวลผล ส่วนซอฟต์แวร์ RIP จะถูกติดตั้งมาบนฮาร์ดแวร์ RIP ซึ่งบริษัทผู้ขายแต่ละบริษัท จะมีรายละเอียดและความสามารถของซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันไป ลักษณะงานพิมพ์ที่แตกต่างกัน เช่น งานพิมพ์หนังสือ หรืองานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ จะมีการใช้ซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันไป สำหรับการพิมพ์ระบบออฟเซต ลักษณะต่างๆ ของเม็ดสกรีนจะถูกกำหนดในหัวข้อต่อไปนี้

1. รูปแบบเม็ดสกรีน

เป็นลักษณะอย่างแรกที่ต้องถูกกำหนดในการสร้างเม็ดสกรีนบนแม่พิมพ์ออฟเซต ปัจจุบันรูปแบบเม็ดสกรีนหลักที่ใช้งาน จะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. เอ เอ็ม สกรีน (Amplitude-Modulated Screening, AM Screening)
2. เอฟ เอ็ม สกรีน (Frequency-Modulated Screening, FM Screening)

จากภาพที่ 3 a แสดงลักษณะของเม็ดสกรีนแบบ AM ซึ่งเป็นลักษณะเม็ดสกรีนที่ใช้ในการสร้างเม็ดสกรีนโดยทั่วไปสำหรับการพิมพ์ออฟเซต ขนาดของเม็ดสกรีนแบบ AM จะมีขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามน้ำหนักสีของภาพ เช่น บริเวณน้ำหนักสีเข้มของภาพ เม็ดสกรีนจะมีขนาดใหญ่ บริเวณน้ำหนักสีอ่อนของภาพ เม็ดสกรีนจะมีขนาดเล็ก ดังนั้นพื้นที่เม็ดสกรีน 40 เปอร์เซนต์ จะมีขนาดเม็ดสกรีนที่ใหญ่กว่าพื้นที่เม็ดสกรีน 10 เปอร์เซนต์ และจากภาพ 3 a หากพิจารณาระยะห่างระหว่างเม็ดสกรีนแบบ AM จะพบว่า ระยะห่างของเม็ดสกรีนแบบ AM จะมีระยะห่างระหว่างเม็ดสกรีนที่เท่ากัน และมีการเรียงตัวกันเป็นเส้นตรงที่ชัดเจน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความละเอียดของภาพพิมพ์ต่อไป

สำหรับภาพที่ 3 b แสดงลักษณะของเม็ดสกรีนแบบ FM ขนาดเม็ดสกรีนแบบ FM จะมีขนาดที่เท่ากัน น้ำหนักสีของภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจะเกิดจากจำนวนเม็ดสกรีนที่แตกต่างกัน เช่น บริเวณน้ำหนักสีอ่อน จำนวนเม็ดสกรีนจะมีจำนวนน้อยกว่าบริเวณน้ำหนักสีเข้ม ดังนั้นพื้นที่เม็ดสกรีน 40 เปอร์เซนต์ จะมีจำนวนเม็ดสกรีนมากกว่าจำนวนเม็ดสกรีนในพื้นที่เม็ดสกรีน 10 เปอร์เซนต์ สำหรับระยะห่างของเม็ดสกรีนแบบ FM จะมีระยะห่างระหว่างเม็ดสกรีนที่ไม่เท่ากัน บริเวณน้ำหนักสีเข้มของภาพจะมีระยะห่างของเม็ดสกรีนที่น้อยกว่าระยะห่างของเม็ดสกรีนในบริเวณน้ำหนักสีอ่อนของภาพ

2. ความละเอียดสกรีน

ความละเอียดสกรีน (Screen ruling) หมายถึง จำนวนเส้นสกรีน ในพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร หรือ 1 ตารางนิ้ว ความละเอียดสกรีนนี้เป็นความละเอียดที่ต้องถูกกำหนดในการใช้งานเม็ดสกรีนแบบ AM ภาพที่มีความละเอียดสกรีนสูง จะทำให้ภาพนั้นคมชัดมากขึ้น เนื่องจากขนาดเม็ดสกรีนจะมีขนาดเล็ก ทำให้เก็บรายละเอียดของภาพได้มาก การเลือกความละเอียดต้องเหมาะสมกับระบบการพิมพ์ และวัสดุที่นำมาพิมพ์ ความละเอียดสกรีนในประเทศไทยนิยมใช้จะมีหน่วยเป็นจำนวนเส้นต่อนิ้ว (LPI)

การเลือกใช้ความละเอียดสกรีนต้องพิจารณาสองปัจจัยหลักด้วยกัน คือ ระบบการพิมพ์และวัสดุที่นำมาใช้พิมพ์ โดยทั่วไปความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับระบบการพิมพ์จะแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับระบบการพิมพ์


สำหรับความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับวัสดุต่างๆ โดยปกติวัสดุที่มีพื้นผิวที่เรียบจะสามารถเลือกใช้ความละเอียดสกรีนที่สูงกว่าวัสดุที่มีผิวหยาบ ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ความละเอียดสกรีนที่เหมาะสมกับกระดาษชนิดต่างๆ

สำหรับการพิมพ์ด้วยเม็ดสกรีนแบบ FM ความละเอียดของภาพพิมพ์จะถูกกำหนดด้วยขนาดของเม็ดสกรีน ปัจจุบันในประเทศไทยจะสามารถทำแม่พิมพ์และพิมพ์ได้อยู่ขนาดเม็ดสกรีนประมาณ 20 – 30 ไมครอน โดยขนาดเม็ดสกรีนเปรียบเทียบกับช่วงโทนสีกลางของภาพ (Midtone) ที่ผลิตด้วยเม็ดสกรีนแบบ AM แสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ขนาดเม็ดสกรีนแบบ FM เปรียบเทียบกับเม็ดสกรีนแบบ AM ในความละเอียดสกรีนที่ต่างกัน

3. มุมสกรีน

ในระบบสกรีนแบบ AM Screening การแยกสีต้องมีมุมสกรีนของแต่ละสีที่ต่างกัน 30 องศา จึงจะไม่เกิดลายตาเสื่อเกิดขึ้น หรือเกิดน้อยที่สุด ยกเว้นแต่มุมสกรีนของสีเหลือง เนื่องจากเป็นสีที่มีความสว่างสีสูง

4. รูปร่างเม็ดสกรีน

รูปร่างเม็ดสกรีน (Dot shape) สามารถเลือกใช้ได้ดังนี้

1. สกรีนเม็ดสี่เหลี่ยม (Square dot) เป็นสกรีนที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม จะมีมุมเชื่อมต่อกันทั้ง 4 มุมพร้อมๆ กันที่พื้นที่สกรีน 50% เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการความคมชัดสูงและความเปรียบต่างสูง แต่ช่วงน้ำหนักสีกลางอาจเกิดน้ำหนักสีโดดได้ (Tone jump)

2. สกรีนลูกโซ่หรือวงรี (Chain dot, elliptical dot) ลักษณะเม็ดสกรีนมีลักษณะเป็นลูกโซ่หรือรูปไข่ เหมาะกับภาพที่ต้องการความนุ่มนวล เช่น ภาพบุคคล ภาพที่มีน้ำหนักสีค่อนข้างต่อเนื่องกันมาก

3. สกรีนเม็ดกลม (Round dot) สกรีนมีรูปร่างวงกลม ให้โทนภาพค่อนข้างโปร่งในบริเวณส่วนสว่าง เหมาะกับภาพที่มีโทนสว่างไม่มาก ไม่ต้องการรายละเอียดในบริเวณเงามืด เช่น ภาพทิวทัศน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า