สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต สีกับการพิมพ์ออฟเซต

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการพิมพ์ออฟเซต
สีกับการพิมพ์ออฟเซต

ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
anan.tanwilai@gmail.com

ในการพิมพ์งานด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซต สีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการกำหนดลักษณะงานพิมพ์ รวมถึงการทำลักษณะพิเศษต่างๆ เช่น การพิมพ์สีพิเศษในงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ในบทความนี้จะอธิบายถึงความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวกับระบบสีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ออฟเซต ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการวัดและควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์ออฟเซต

สี คืออะไร

สี คือ การรับรู้แบบหนึ่งของมนุษย์ โดยเป็นการรับรู้ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (แสง) หรือ สี อาจหมายถึงสมบัติประจำตัวของวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการเลือกดูดกลืนและเลือกส่องผ่านหรือเลือกสะท้อนแสงที่ตกกระทบลงบนวัตถุนั้นๆ จากนิยามในข้างต้น จากภาพที่ 1 การรับรู้สีของมนุษย์จึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือตัวแปร 3 อย่าง คือ
1. แสงหรือแหล่งกำเนิดแสง (Light source)
2. วัตถุมีสี (Colored object)
3. ตาและสมอง (Eye and brain)

แสงหรือแหล่งกำเนิดแสง

แสง คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประเภทหนึ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 380-770 นาโนเมตร หรือ 400-700 นาโนเมตรโดยประมาณ โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหากนำแท่งแก้วปริซึมมาหักเหแสงอาทิตย์ เราจะเห็นว่าแสงสีขาวถูกหักเหออกเป็นสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง คล้ายกับสีของรุ้งกินน้ำ เรียกว่า “สเปกตรัม” (Spectrum) แสงแต่ละสีมีความยาวคลื่นแตกต่างกัน สีม่วงมีความยาวคลื่นสั้นที่สุด (400 nm) สีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุด นอกจากแสงที่ตามองเห็นแล้วยังมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เรียงตามขนาดความยาวคลื่นจากน้อยไปมาก ดังภาพที่ 2 ได้แก่
• รังสีแกมมา (Gamma ray) ความยาวคลื่นน้อยกว่า 0.01 nm
• รังสีเอ็กซ์ (X-ray) มีความยาวคลื่น 0.01 – 1 nm
• รังสีอุลตราไวโอเล็ต (Ultraviolet radiation) มีความยาวคลื่น 1 – 400 nm
• แสงที่ตามองเห็น (Visible light) มีความยาวคลื่น 400 – 700 nm
• รังสีอินฟราเรด (Infrared radiation) มีความยาวคลื่น 700 nm – 1 mm
• คลื่นไมโครเวฟ (Microwave) มีความยาวคลื่น 1 mm – 10 cm
• คลื่นวิทยุ (Radio wave) ความยาวคลื่นมากกว่า 10 cm

สมบัติของแสงที่ส่งผลต่อการรับรู้สี

สมบัติสำคัญของแสงอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการมองเห็นและรับรู้สีวัตถุของมนุษย์ คือ “อุณหภูมิสีสัมพัทธ์ของแสง” (correlated color temperature) ซึ่งหมายถึง อุณหภูมิในหน่วยเคลวิน (kelvin, k) ของความร้อนที่ให้แก่วัตถุแล้ววัตถุเกิดการเปล่งแสงสีต่างๆ ตามอุณหภูมิของความร้อนที่ได้รับ
โดยแสงที่มีอุณหภูมิสีสัมพัทธ์ต่ำ เป็นแสงที่มีสีสันออกไปทางสีแดงมากกว่า ในขณะที่แสงที่อุณหภูมิสีสัมพัทธ์สูง มีสีสันออกไปทางสีน้ำเงินหรือสีฟ้ามากกว่า

โดยสามารถแสดงตัวอย่างของแหล่งกำเนิดแสงและอุณหภูมิสีสัมพัทธ์ของแสงได้ในตาราง

สีกับการพิมพ์ออฟเซต

ในการพิมพ์ออฟเซต จะมีการใช้การผสมสีอยู่ 2 แบบ คือ การผสมสีแบบบวกและการผสมสีแบบลบ โดยการผสมสีทั้งสองแบบนี้จะใช้เป็นหลักสำหรับการทำงานของเครื่องมือวัดและการผสมสีทางการพิมพ์

การผสมสีแบบบวก (Additive Colour Mixing)

การผสมสีแบบบวกเป็นการผสมกันของแสงเพื่อให้เกิดเป็นแสงสีใหม่ตามต้องการ โดยมีแม่สีของแสงคือ แสงสีแดง (Red, R) แสงสีเขียว (Green, G) และแสงสีน้ำเงิน (Blue, B) ตัวอย่างการผลิตสีด้วยระบบการผสมสีแบบบวก อาทิ การผลิตสีของโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ จากภาพที่ 4 จะสามารถสรุปการผสมสีได้ดังต่อไปนี้
• สีน้ำเงิน (Blue) + สีเขียว (Blue) = สีฟ้า (Cyan)
• สีแดง (Red) + สีน้ำเงิน (Blue) = สีแมกเจนตา (Magenta)
• สีแดง (Red) + สีเขียว (Green) = สีเหลือง (Yellow)
• และแสงทั้งสามสีรวมกัน จะได้แสงสีขาว

การผสมสีแบบลบ (Subtractive Colour Mixing)

การผสมสีแบบลบเป็นการผสมกัน (พิมพ์ซ้อนทับกันหรือพิมพ์ใกล้กัน) ของหมึกพิมพ์ (ผงสี) โดยหมึกพิมพ์ทำหน้าที่ในการดูดกลืนแสงในบางช่วงความยาวคลื่นไว้ และสะท้อนหรือส่องผ่านแสงในช่วง ความยาวคลื่นที่เหลือออกมา ทั้งนี้แม่สีในระบบการผสมสีแบบลบ คือ สีน้ำเงินเขียว (Cyan, C) สีม่วงแดง (Magenta, M) และสีเหลือง (Yellow, Y) ตัวอย่างการผลิตสีด้วยระบบการผสมสีแบบลบ อาทิ การผลิตสีทางการพิมพ์ทั้งในการพิมพ์ออฟเซต และการทำปรู๊ฟสำหรับงานพิมพ์ จากภาพที่ 5 จะสามารถสรุปการผสมสีได้ดังต่อไปนี้
• สีฟ้า (Cyan) + สีแมกเจนตา (Magenta) = สีน้ำเงิน (Blue)
• สีฟ้า (Cyan) + สีเหลือง (Yellow) = สีเขียว (Green)
• สีแมกเจนตา (Magenta) + สีเหลือง (Yellow) = สีแดง (Red)
• และตามทฤษฎี เมื่อนำแม่สีแบบลบมารวมกันจะได้สีดำ

แต่ในการพิมพ์งานด้วยแม่สีแบบลบ หมึกพิมพ์ทั้งสามสีเมื่อนำมาพิมพ์ทับกัน ไม่สามารถให้สีดำได้ตามทฤษฏี เนื่องจากความไม่บริสุทธิ์ของผงสี จึงทำให้บริเวณส่วนเงาของภาพ มีความเข้มสีที่ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ต้องมีการพิมพ์สีดำ เพื่อเพิ่มความเข้มสีให้กับภาพพิมพ์ รวมถึงทำให้ภาพพิมพ์มีความคมชัดมากขึ้นด้วย เลยทำให้ในการพิมพ์งานด้วยการพิมพ์ออฟเซตโดยทั่วไปจะใช้หมึกพิมพ์ทั้งหมด 4 สี คือ C M Y และ K นั้นเอง ดังแสดงในภาพที่ 6

การพิมพ์สีพิเศษในการพิมพ์ออฟเซต

นอกจากการผลิตงานพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ 4 สี (CMYK) ในการพิมพ์ออฟเซตจะมีการใช้สีพิเศษในการพิมพ์งาน โดยจะมีการใช้งานระบบสีแพนโทน (Pantone) เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกเฉดสีที่ตนเองต้องการ ระบบสีแพนโทนจะมีการใช้ในการออกแบบสีสัญลักษณ์ขององค์กร หรือโลโก้ หรือใช้ในการออกแบบสีพื้นของบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า ระบบสีแพนโทน จะมีการผสมสีจากแม่สีทั้งหมด 9 สี เพื่อสร้างสีพิเศษต่างๆ ขึ้นมา โดยจะมีการจำแนกรหัสสีอย่างชัดเจน เพื่อความถูกต้องในการใช้งาน นอกจากนี้ระบบสีแพนโทน ยังมีการจัดทำเฉดสีลงบนกระดาษที่แตกต่างกัน ทั้งกระดาษเคลือบผิวและกระดาษไม่เคลือบผิว เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกเฉดสีที่เกิดขึ้นบนลักษณะกระดาษที่แตกต่างกันได้ ดังแสดงในภาพที่ 7
ในการพิมพ์งานด้วยหมึกพิมพ์ 4 สี (CMYK) เฉดสีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการพิมพ์งานจะเกิดจากการพิมพ์ทับซ้อนกันของเม็ดสกรีนในแต่ละสี ซึ่งหมึกพิมพ์แต่ละยี่ห้อ จะทำให้เฉดสีที่ได้มีความแตกต่างกัน สำหรับหมึกพิมพ์ที่มาจากระบบสีแพนโทน จะต้องมีการสั่งผสมสีมาจากโรงงานผู้ผลิตหมึกพิมพ์ โดยใช้รหัสสีตามระบบแพนโทน ซึ่งในการพิมพ์งานจะมีการสั่งทำแม่พิมพ์อีก 1 แผ่น เพื่อใช้ในการพิมพ์งานสีพิเศษนี้ การพิมพ์งานสีพิเศษนี้ ส่วนมากจะเป็นการพิมพ์งานสีพื้นทึบ และไม่มีการพิมพ์ทับซ้อนกับสีอื่นๆ บนงานพิมพ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า