พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช กับบทบาทนายกสมาคมการพิมพ์ไทย

พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช กับบทบาทนายกสมาคมการพิมพ์ไทย

ในปีนี้สมาคมการพิมพ์ไทยมีอายุครบ 72 ปี ถือว่าเป็นสมาคมที่เก่าแก่ และมีประวัติที่ยาวนาน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น นายกสมาคมฯ ทุกท่าน ต่างมีโยบายการบริหารที่ส่งผลให้สมาคมฯ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมฯ คนปัจจุบันได้กล่าวถึง ภารกิจหลักของสมาคมการพิมพ์ไทยว่า สมาคมฯ มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศักยภาพทางการพิมพ์ของประเทศไทย รวมไปถึงการช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับข้อร้องเรียนต่างๆ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้หมู่สมาชิก การจัดสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี การค้า หรือข้อมูลด้านสถิติ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพการพิมพ์ผ่านโครงการประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ Thai Print Awards การส่งเสริมอุตสาหกรรมการพิมพ์กับภาครัฐ เนื่องจากอุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนหรือ Supporting Industry อยู่ในทุกๆ อุตสาหกรรม ดังนั้นสิ่งพิมพ์จึงมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าต่างๆ อยู่เสมอยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหารก็ต้องมีบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ต้องอาศัยการพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์โลหะ กระดาษ แก้ว หรือพลาสติกก็ต้องมีการพิมพ์เพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และสร้างความโดดเด่น สวยงามดึงดูดสายตาเมื่ออยู่บนชั้นวางสินค้า

สมาคมการพิมพ์ไทยนับถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 72 ปีแล้ว ที่ทำการแรกอยู่ที่ซอยจินดาถวิล ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ซอยนวลจันทร์ จนปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่ พระราม 9 ซอย 15 ในสมัยคุณเกรียงไกร เธียรนุกุลเป็นนายกสมาคม ที่ทำการปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องจัดกิจกรรมสัมมนาต่างๆ และห้องประชุมย่อยสำหรับการประชุมคณะกรรมการ Young Printer นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดที่เก็บตัวอย่างหนังสือที่เน้นการออกแบบดีไซน์ หรือการใช้เทคนิคการพิมพ์แบบพิเศษ ห้องทดสอบวัสดุการพิมพ์ (Thai Print Lab) และศูนย์ทดสอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ นอกจากนี้สมาคมการพิมพ์ยังมีสถาบันการพิมพ์ไทย (Thai Print Academy) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

ผลงานที่สร้างชื่อให้สมาคมฯเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือ การสร้างบ้านกระดาษทรงไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ในงาน APEC Investment Mart โดยสมาคมฯ ได้รับมอบหมายให้สร้างสถานที่จัดแสดงผลงานและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในงานดังกล่าว คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ได้เสนอว่าน่าจะสร้างบ้านกระดาษทรงไทยจากกระดาษเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ และสร้างทั้งทีควรทำสถิติโลกผ่าน Guinness World of Record จึงได้มีการออกแบบบ้านทรงไทยทั้งหลังด้วยกระดาษ โครงสร้างของบ้านทั้งหมดทำด้วยวัสดุที่เป็นกระดาษอย่างเดียวไม่มีวัสดุชนิดอื่นปนเลย สามารถรองรับน้ำหนัก โดยนำคนขึ้นไปยืนทำสถิติโลกถึง 680 คน โดยที่บ้านยังคงความแข็งแรงไว้ได้อย่างมั่นคง บนบ้านกระดาษจะมีซุ้มเรือนไทยขนาดย่อมแสดงผลงาน 4 มุม โดยแต่ละหลังจะมีการนำสิ่งพิมพ์ไปตั้งแสดงไว้ภายใน นายกรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ ที่มาร่วมงานในเวลานั้น พลาดไม่ได้ที่จะมาพิสูจน์ความแข็งแรงของบ้านกระดาษทรงไทย จึงถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับสมาคมการพิมพ์ไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ภาครัฐได้รู้จักอุตสาหกรรมการพิมพ์มากขึ้น

สำหรับเรื่องการจัดงานแสดงการพิมพ์ในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ได้ง่ายและสะดวกขึ้นนั้น เดิมการจัดงานแสดงการพิมพ์จะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเมื่อก่อนสิงคโปร์ และฮ่องกงจะเป็นศูนย์กลางทางการพิมพ์ เพราะทั้งสองประเทศนี้ติดต่อธุรกิจเก่ง และมีความสามารถทางด้านภาษา แต่สมาคมฯ มีความคิดว่าคนไทยเองก็มีศักยภาพเช่นกัน ทำไมจึงไม่ดึงงานแสดงงานพิมพ์เหล่านี้มาจัดที่เมืองไทย สมาคมฯ จึงได้ประชุมกับ Messe Dusseldorf Asia Pte Ltd. ซึ่งเป็นผู้จัดงาน DRUPA งานแสดงสิ่งพิมพ์ระดับโลกที่เยอรมันโดยจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี จนในที่สุดจึงเกิดงานแสดงการพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนขึ้นในประเทศไทย นั่นคืองาน PACK PRINT INTERNATIONAL โดยสมาคมการพิมพ์ไทยร่วมกับสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และ Messe Dusseldorf Asia Pte Ltd. ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งในปีนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 7 แล้ว โดยงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2562 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา แนวคิดของงานในครั้งนี้คือ SHAPING THE FUTURE OF PACKAING & PRINTING IN ASIA

จุดเด่นของธุรกิจการพิมพ์ของประเทศไทยที่สร้างความโดดเด่นในตลาดโลก

ต้องบอกว่าประเทศไทยมี Supply Chain ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในส่วนของต้นน้ำเรามีการปลูกป่าเพื่อนำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ มีโรงงานผลิตกระดาษ กลางน้ำเรามีโรงพิมพ์ที่มีคุณภาพทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เรามีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร ซึ่งเป็นนิคมการพิมพ์แห่งเดียวในโลก เรามีความได้เปรียบในเชิงตำแหน่งที่ตั้งภูมิประเทศ เพื่อการขนส่ง Logistic ตลอดจนเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการพิมพ์ ช่างพิมพ์ของประเทศไทยเป็นช่างพิมพ์ที่มีทักษะ โดยเฉพาะลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นคนใส่ใจ มีความละเอียด ซึ่งเห็นได้จากการที่ประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศหลายๆ ครั้งจากการประกวดสิ่งพิมพ์ระดับอาเซียน เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องของการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคนี้ และในปีนี้ประเทศไทย โดยสมาคมการพิมพ์ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ASEAN Printing Forum ในช่วงเวลาเดียวกับงาน PACK PRINT INTERNATIONAL อีกด้วย โดยในงานนี้จะมีนายกสมาคมการพิมพ์และคณะกรรมการสมาคมของประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ที่เรียกว่า Country Report การแสวงหาความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออก-การนำเข้า และแนวทางการลงทุนในเทคโนโลยีการพิมพ์ของแต่ละประเทศว่ากำลังเดินไปในทิศทางใด

อย่างไรก็ตามสมาคมการพิมพ์ไทยไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยมุ่งเน้นใน 3 กลุ่มหลักๆ คือ

  • Printer หรือระดับช่างพิมพ์ ให้ความสำคัญโดยการส่งเสริมและร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ฯลฯ สร้างโครงการสหกิจศึกษา หรือการเชิญคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ มาร่วมสอนให้กับนักเรียนของ Thai Print Academy หรือสถาบันการพิมพ์ไทยซึ่งเป็นสถาบันที่เปิดสอนให้ช่างพิมพ์มีความชำนาญในเรื่องการพิมพ์
  • ระดับกลาง หรือระดับผู้จัดการ โดยการเปิดการฝึกอบรมสัมมนาทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการพิมพ์และในด้านการตลาด เพราะผู้บริหารในอุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องเก่งทั้งในเรื่องการพิมพ์ การบริหารโรงพิมพ์ การขาย การทำ Marketing อีกด้วย
  • Young Printer หรือกลุ่มลูกหลานทายาทของผู้ประกอบการโรงพิมพ์ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มทายาทธุรกิจโรงพิมพ์หันมาสนใจและสืบทอดกิจการด้านการพิมพ์ต่อไป โดยผู้สมัครต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี จึงจะสามารถสมัครเข้าร่วมกลุ่ม Young Printer ได้ ซึ่งกลุ่ม Young Printer นี้มีรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการเช่นเดียวกับคณะกรรมการสมาคมชุดใหญ่ของสมาคม มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นการดูงาน หรือการจัดกิจกรรม CSR ตามที่กลุ่ม Young Printer สนใจ เพื่อจะได้ตอบโจทย์และโดนใจกับคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ Young Printer ยังเป็นบุคลากรสำคัญที่ทำงานสนับสนุนควบคู่กับกรรมการชุดใหญ่ ทำให้เมื่อถึงวันที่เติบโตขึ้นและได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นคณะกรรมการสมาคมฯ แล้วจะสามารถสานต่อกิจกรรมของสมาคมฯ ในอนาคตได้อย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจการพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันหลายๆ ธุรกิจถูก Disrupt จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ในอดีตเราเคยใช้กล้องฟิล์มสำหรับถ่ายรูป ต่อมาเราใช้กล้อง Digital แทน แต่ทุกวันนี้เราก็แทบจะไม่พกกล้องกันแล้ว เพราะเราใช้มือถือถ่ายรูป แถมสามารถอัพโหลดขึ้นไปอยู่บน Social Media ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ดังนั้นถึงแม้จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีทรัพย์สินมูลค่าหลายแสนล้าน ผลิตทั้งกล้องและฟิล์มก็ไม่สามารถต้านทานกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไม่ปรับตัว ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด หรือว่าในกรณีของ Nokia เป็นเจ้าแห่งโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ แต่วันนึงเมื่อเกิดสมาร์ทโฟนแบบ iphone ขึ้นมา ในเวลาไม่นานยอดขาย Nokia ก็ลดลง เพราะฉะนั้น ต่อให้วันนี้เราเป็นธุรกิจที่ไฮเทคและเป็นอะไรที่ปัจจุบันก็จริง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการ Disrupt อยู่เสมอ อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็เช่นกันที่วันนี้ถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมีเดีย ปัจจุบันคนอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิตยสาร ผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะกว่าจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแต่ละฉบับนั้นมีกระบวนการหลายขั้นตอน การอ่านข่าวจากเว็บไซต์หรือสื่อดิจิตอลจึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วกว่า ส่งผลให้เม็ดเงินค่าโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ถูกลดบทบาทลง โดยหันไปโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยอดพิมพ์ลดลง และหลายๆ ฉบับที่ต้องปิดตัวไป นิตยสารเองก็เช่นกัน ต้นทุนในการจัดทำนิตยสารแต่ละเล่มนั้นค่อนข้างสูง บางครั้งราคาจำหน่ายยังต่ำกว่าต้นทุนค่าผลิต ที่สามารถจำหน่ายราคาต่ำกว่าต้นทุนได้เพราะได้ค่าโฆษณาเข้ามาช่วย แต่ในยุคดิจิทัล พฤติกรรมการใช้สื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เจ้าของสินค้าหันไปใช้โฆษณาในสื่ออื่นๆมากขึ้น เช่น Website Facebook YouTube Instagram หรือการโฆษณาผ่าน Blogger ต่างๆ ดังนั้นเมื่อเม็ดเงินค่าโฆษณาไหลเข้าสู่ตลาดนิตยสารลดลง ทำให้หลายหัวนิตยสารอยู่ไม่ได้ ต้องปิดตัวลงไปเหมือนเช่นกับหนังสือพิมพ์ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์จึงต้องปรับตัวและต้องหาว่า Segment ไหนของสิ่งพิมพ์ที่ยังคงเติบโตอยู่

อุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องปรับตัวอย่างไร

ปัจจุบันในส่วนประเภทของงานพิมพ์ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องคือการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ Label การพิมพ์บนกล่องกระดาษลูกฟูก การพิมพ์ระบบ Digital Printing – Digital Packaging เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มีผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สินค้าต่างๆ ต้องใส่กล่องสำหรับจัดส่ง ดังนั้นจึงมีผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ผันตัวเองไปพิมพ์บรรจุภัณฑ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ต้องพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของนวัตกรรมทางด้านการพิมพ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งพิมพ์ การออกแบบดีไซน์ การสร้างแบรนด์ โดยต้องศึกษาในเรื่องของเทคโนโลยีและความคุ้มค่าของการลงทุนให้ดี อีกทั้งต้องศึกษาแนวทางการทำตลาดใหม่ๆ ทั้ง Online และ Offline เพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าในปัจจุบันให้ได้ สำหรับนักออกแบบกราฟิกก็ต้องสังเกตว่าขณะนี้ตลาดบรรจุภัณฑ์กำลังเติบโต ฉะนั้นจึงควรฝึกด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อรองรับตลาด และไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ด้านออกแบบให้สวยงามเท่านั้นแต่ ต้องรู้ไปถึงโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ด้วยว่าต้องออกแบบอย่างไรให้มีความแข็งแรงปกป้องสินค้า บรรจุสินค้าด้วยเครื่องจักรอย่างไร ประหยัดพื้นที่ในการจัดส่ง ตลอดจนการใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

และจากการที่อุตสาหกรรมการพิมพ์กำลังเผชิญความท้าทายกับกระแส Disruptive Technology นี้ สมาคมการพิมพ์ไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์แนวทางแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ ด้วยการ SMART Transform โดยส่วนมากแล้วธุรกิจการพิมพ์จะเติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว รุ่นพ่อแม่สร้างและรุ่นลูกมาสานต่อ ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือ Small and Medium Enterprise แต่ปัจจุบันการบริหารแบบ SMEs แบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น SMEs ที่เป็น SMART Management Enterprise ให้ได้อย่าง S M A R T

  • S = Strategy การปรับกระบวนทัศน์และวางแผนกลยุทธ์ แนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
  • M = Marketing Plan การวางแผนการตลาดอย่างสร้างสรรค์การสร้างความแตกต่างทั้งในเรื่อง Business Model และการใช้สื่อการตลาดแบบใหม่ เช่น สื่อดิจิทัลเพื่อเปิดช่องทางการขายให้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จะเป็นการเพิ่มยอดขายและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้
  • A = Alliance การเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า การรวมกลุ่ม การทำงานร่วมกันแบบเป็นพันธมิตร (Cluster) ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ช่วยลดการแข่งขันในเรื่องการตัดราคา การแชร์ทรัพยากรทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรอย่างคุ้มค่า
  • R = Responsibility for Environment การให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตควบคู่ไปกับสังคมที่น่าอยู่
  • T = Technology คือการนำเครื่องจักรหรือระบบการทำงานสมัยใหม่ที่มีความเป็น Automation มากขึ้นมาใช้ในการผลิตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้สูงขึ้นได้

นวัตกรรมสำคัญต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างไร

ธุรกิจการพิมพ์หากไม่ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ยังคงรับจ้างพิมพ์ในรูปแบบเดิมๆ คงหนีไม่พ้นการแข่งขันกันในเรื่องราคา เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะสร้างความโดดเด่นและทำให้เกิดความแตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้าได้ จึงต้องคิดค้นในเรื่องของนวัตกรรม และเรื่อง High Value Added การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์-หลังพิมพ์ ด้วยเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการออกแบบกราฟิกดีไซน์ โรงพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ออกแบบด้วยตัวเอง แต่รับงานผ่านเอเยนซี่หรือลูกค้าเป็นผู้ออกแบบส่งมา ต้องสร้างทีมออกแบบกราฟิกขึ้นมาเพื่อที่จะได้ออกแบบงานได้เองเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงานพิมพ์ และจุดนี้ทำให้ไม่ต้องแข่งขันในเรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยสร้างจุดแข็งให้การหางานและตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า