โครงการ ๙ แบบตัวพิมพ์ไทย เพื่อพ่อ

p18-21_18

โครงการ ๙ แบบตัวพิมพ์ไทย เพื่อพ่อ
เรียบเรียง โดยคุณประสิทธิ์ คล่องงูเหลือมประธานโครงการ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองแผ่นดินยาวนานกว่า ๗๐ ปี อันเป็นระยะเวลาครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และในช่วงเวลาของการครองสิริราชสมบัติทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆที่ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ งานด้านศิลปะและการออกแบบซึ่งในอดีตมักเรียกรวมกันว่า “งานช่าง” นั้น นับเป็นพระราชกรณียกิจอีกด้านหนึ่งที่ทรงมีความสนพระราชหฤทัยยิ่ง ผลงานด้านศิลปะและการออกแบบ ตลอดจนงานช่างฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลากหลายรูปแบบและมีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่นการถ่ายภาพ ดนตรี งานจิตรกรรม และการประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ประกอบไปด้วยสมาคม และชมรมทางด้านการพิมพ์ ทั้ง ๙ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ของเหล่าศิลปิน นักออกแบบตัวพิมพ์ ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ และประชาชนชาวไทย จึงได้มีการรวมตัวกันทำความดีเพื่อพ่อ ภายใต้โครงการ “๙ แบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อพ่อ” เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจทางด้านศิลปะและการออกแบบ รวมถึงเป็นการเทิดพระเกียรติและระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา

โครงการ ๙ แบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อพ่อ ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของการพัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทย โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ สมาคม และชมรมในอุตสาหกรรมการพิมพ์ รวมถึงนักออกแบบตัวพิมพ์ไทย ผลงานของ ๙ แบบตัวพิมพ์ไทยที่สร้างสรรค์เสร็จแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยทางสหพันธ์ฯ จะมีการแจกจ่ายให้ประชาชนคนไทยนำไปใช้ได้ฟรี เพื่อใช้ในการผลิตสื่อต่างๆ

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
๒. เพื่อเป็นประวัติศาสตร์แบบตัวพิมพ์ไทยในรัชกาลที่ ๙
๓. เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในด้านการออกแบบ และการประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์
๔. เพื่อสร้างสรรค์แบบตัวพิมพ์แจกจ่ายให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ฟรี
๕. เพื่อให้ภาครัฐ และเอกชน นำไปใช้เป็นแบบตัวพิมพ์สำหรับจัดงานนิทรรศการต่างๆ รวมถึงใช้เป็นแบบตัวพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อประเภทต่างๆ
๖. เพื่อใช้เป็นแบบฟ้อนต์สำหรับจัดทำหนังสือ “๙ แบบตัวพิมพ์ไทย” และหนังสือ “โครงการพระราชดำริ แนวคิดและทฤษฏี ร.๙” สำหรับจัดพิมพ์ และแจกจ่ายประชาชนฟรีทั่วประเทศ

๙ แบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อพ่อ

แบบตัวพิมพ์ทั้ง ๙ แบบ เกิดจากการพัฒนาของนักออกแบบตัวพิมพ์ ๙ ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทพัฒนาแบบตัวพิมพ์ เป็นนักออกแบบอิสระ เป็นอาจารย์ และเยาวชน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ และพัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทย เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙

แบบตัวพิมพ์แต่ละแบบ มีความเป็นมา และถ่ายทอดถึงพระองค์ท่าน เป็นแบบตัวพิมพ์ที่มีความหมาย มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่ซึ่งควรเทิดทูลไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ดังนั้น ผู้ที่นำแบบตัวพิมพ์ไปใช้ในสื่อต่างๆ จึงควรเลือกใช้อย่างเหมาะสม แบบตัวพิมพ์ส่วนหนึ่งเป็นแบบตัวพิมพ์ในกลุ่ม Display จึงเหมาะกับการนำไปใช้เป็นแบบตัวพิมพ์ในการจัดนิทรรศการต่างๆ โดยเฉพาะนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ หรือใช้เป็นตัวหัวข้อหลักที่ต้องการเน้นคำในสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไป ทั้งหมดเป็นแบบตัวพิมพ์ชนิด OpenType มีการเข้ารหัสแบบ Unicode จึงทำให้สามารถใช้ได้ทั้งเครื่องที่มีระบบปฏิบัติ Mac OS และ Windows

แบบตัวพิมพ์ทั้งหมด มีการตั้งชื่อที่สื่อและมีความหมายต่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดยทุกแบบตัวพิมพ์ จะมีเลข 9 นำหน้าชื่อ นั่นหมายถึง ในหลวง รัชกาลที่ ๙

๙ แบบตัวพิมพ์ ๑๓ รูปแบบ ประกอบด้วย

๑. 9 BelovedKing ผู้ออกแบบและพัฒนา ผศ.อาวิน อินทรังษี
๒. 9 KhunThongDaeng ผู้ออกแบบและพัฒนา อาจารย์ขาม จาตุรงคกุล
๓. 9 LP Bold ผู้ออกแบบและพัฒนาคุณนภนต์ พุทธิพัฒนกุล
๔. 9 LUANG และ 9 LUANG Italic ผู้ออกแบบและพัฒนา คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์
๕. 9 Nopparaj ผู้ออกแบบและพัฒนาคุณกฤษดา วงศ์อารยะ
๖. 9 our KING ผู้ออกแบบและพัฒนาคุณไพโรจน์ ธีระประภา
๗. 9 Pradit Regular ผู้ออกแบบและพัฒนา คุณคนัช อุยยามาฐิติ
๘. 9 Siamin ผู้ออกแบบและพัฒนาคุรธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ
๙. 9 TerdThai, 9 TerdThai Script 1 และ 9 TerdThai Script 2 ผู้ออกแบบและพัฒนาผศ.ประชิด ทิณบุตร

คุณสมบัติแบบตัวพิมพ์บางส่วนที่พัฒนา

แบบตัวพิมพ์ ประกอบไปด้วย ตัวอักษรไทยตัวอักษรโรมัน และการกำหนดรูปแบบเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้ครบชุดในแต่ละแบบตัวพิมพ์ การพัฒนาแบบตัวพิมพ์ยังต้องคำนึงถึงการใช้งานทางด้านการเรียงพิมพ์ การออกแบบสิ่งพิมพ์ ทั้งการปรับช่องว่างระหว่างตัวอักษร, ช่องว่างระหว่างคำ รวมถึงการจัดวางตำแหน่งของสระ และวรรณยุกต์ให้ถูกต้องเหมาะสมกับระบบใช้งานทางด้านการออกแบบสิ่งพิมพ์ ผู้พัฒนาต้องมีการเพิ่ม Script ต่างๆ เพื่อให้แบบตัวพิมพ์สามารถใช้งานร่วมกับระบบปฎิบัติการุ่นใหม่ และโปรแกรมรุ่นใหม่ นอกจากนั้นยังกำหนดฟังก์ชั่นพิเศษต่างๆ เพื่อให้แบบตัวพิมพ์มีคุณสมบัติที่ทันสมัยได้มาตรฐาน

แบบตัวพิมพ์แต่ละแบบมีการออกแบบและพัฒนาให้มีจำนวนตัวอักษรพิเศษเพิ่มเติม ไม่เหมือนกัน แต่ทุกแบบตัวพิมพ์จะมีตัวอักษรพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้งานทั้งแบบตัวอักษรไทย และตัวอักษรโรมัน สำหรับรูปแบบที่เป็นครอบครัวฟ้อนต์ หรือ Family Font แต่ละแบบตัวพิมพ์ก็มีไม่เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่จะมีเฉพาะรูปแบบเดียว เป็นรูปแบบพื้นฐาน คือ Regular หรือ Normal ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับความประสงค์ของนักออกแบบ และพัฒนาแบบตัวพิมพ์แต่ละท่าน

ลิขสิทธิ์แบบตัวพิมพ์ และการใช้งาน

“๙ แบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อพ่อ” เป็นโครงการของสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเทิดทูลต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นการรวมตัวกันทำความดีเพื่อพ่อ ของเหล่าศิลปิน นักออกแบบตัวพิมพ์ ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ และประชาชนชาวไทย

“แบบตัวพิมพ์หรือซอฟต์แวร์ฟ้อนต์ทั้ง ๙ แบบ” ได้รับการออกแบบ และพัฒนาโดยนักออกแบบตัวพิมพ์ ๙ ท่าน และมอบให้สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นผู้เผยแพร่และแจกจ่ายให้ประชาชนคนไทยได้ใช้ฟรี เป็นแบบตัวพิมพ์สาธารณะ สามารถนำไปใช้บนสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ รวมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อดิจิทัลได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ห้ามนำไปจัดจำหน่าย หรือเปลี่ยนแปลงแบบตัวพิมพ์ หรือซอฟต์แวร์ฟ้อนต์ก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์

p18-21_QR-Code

ท่านสามารถดาวน์โหลด ๙ แบบตัวพิมพ์ไทย ได้ที่เว็บไซต์สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ โดยเข้าไปที่ http://www.printfederation.or.th เลือกที่แถบDownloads และเลือกหมวด Thailand Fonts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า