ธนบัตรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี

p18-21_2

ธปท.พิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี

“ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท. จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2559 และน้อมนำจิตใจของปวงชนชาวไทยให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอเนกประการ

ภาพด้านหน้า เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ทรงยืนเบื้องหน้าพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ที่ทรงรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ภาพด้านหลัง เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี ทรงยืนเบื้องหน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

p18-21_3

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง

  1. ภาพประธานด้านหน้าและด้านหลัง พิมพ์ด้วยลายพิมพ์เส้นนูน มีลักษณะคมชัด จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ
  2. ตัวเลขไทย “๗๐” ที่ด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกไปมา จะเป็นประกายระยิบระยับ
  3. ตัวเลขอารบิก “70” ที่ด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกไปมา จะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว
  4. ภายในรูปพระครุฑพ่าห์ ที่ด้านหน้าธนบัตร มีตัวเลขแฝงเป็นตัวเลขอารบิก “70” ซ่อนไว้ ซึ่งมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง
  5. ลายรัศมีและลายพื้นเบื้องหลังภาพประธาน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเรืองแสง เมื่อส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง

p18-21_4

p18-21_5

ทั้งนี้ คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 70 บาท จำนวน 20 ล้านฉบับ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยธนบัตรที่ระลึกฯ ที่จัดพิมพ์ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 สำหรับ 2 ครั้งก่อนคือ ธนบัตรที่ระลึกฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539 และ 60 ปี เมื่อปี 2549 ความพิเศษ คือ ขนาดใหญ่กว่าธนบัตรทั่วไป มีความกว้าง 89 มิลลิเมตร หมายถึงพระชนมายุครบรอบ 89 พรรษา ความยาว 162 มิลลิเมตร นำหมายเลขทั้งหมดมาบวกรวมกันเท่ากับ 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9

“ความโดดเด่นด้านการพิมพ์คือ ภาพประธานด้านหน้าและด้านหลัง พิมพ์ด้วยลายพิมพ์เส้นนูน มีลักษณะคมชัด จะรู้สึกสะดุด เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ ซึ่งตัวเลขไทย “๗๐” ที่ด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกไปมา จะเป็นประกายระยิบระยับ ส่วนตัวเลขอารบิก “70” ที่ด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสลับสีเมื่อพลิกไปมา จะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว ทั้งนี้ ภายในรูปพระครุฑพ่าห์ที่ด้านหน้าธนบัตร มีตัวเลขแฝงเป็นตัวเลขอารบิก “70” ซ่อนไว้ จะมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง รวมทั้ง ลายรัศมีและลายพื้นเบื้องหลังภาพประธานทั้งด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเรืองแสง เมื่อส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง(ยูวี)” คุณวิรไท กล่าว

p18-21_6

นอกจากนี้ ธปท. ออกใช้ธนบัตรที่ระลึกดังกล่าว ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจ่ายแลกพร้อมแผ่นบรรจุในราคา 100 บาท คาดว่าจะมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของประชาชนโดยไม่ต้องพิมพ์เพิ่มอีก ทั้งนี้ รายได้ส่วนต่าง 30 บาท ในการแลกธนบัตร หรือรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดให้ประชาชนแลกซื้อธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีประชาชนทั่วประเทศแห่เดินทางไปแลกธนบัตรเป็นจำนวนมาก จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แม้ว่าจะกำหนดแลกซื้อเพียงคนละ 1-2 ฉบับ ก็ตาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า